หลายคนอาจยังไม่รู้ว่าจริง ๆ แล้ว ภ.บ.ท.5 ที่เรียกกันว่า "ภาษีดอกหญ้า" นั้น มีชื่อเป็นทางการว่า "ภาษีบำรุงท้องที่" และต้องเข้าใจกันก่อนว่า ภ.บ.ท.5 เป็นเพียงหนังสือรับรองการเสียภาษีของผู้ที่ครอบครองที่ดินให้กับหน่วยงานราชการในท้องถิ่น หรือองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เท่านั้น ภ.บ.ท.5 ไม่ใช่เอกสารสิทธิ์เป็นเจ้าของที่ดิน เพราะไม่ได้ออกโดยกรมที่ดิน และเอกสารสิทธิ์เกี่ยวกับที่ดินนั้นมีด้วยกันหลายประเภท ส่วน ภ.บ.ท.5 จริง ๆ แล้วคืออะไร มีประโยชน์และมีรายละเอียดอย่างไรบ้าง เราจะมาทำความรู้จักกับ ภ.บ.ท.5 ไปพร้อม ๆ กันเลย
. . . . . . . . . .
ภ.บ.ท.5 หรือภาษีบำรุงท้องที่ นั้นมีมานานแล้ว จากการที่สมัยก่อนที่คนขาดแคลนที่ดินทำกิน ทำเกษตรกรรม กสิกรรม ที่ดินมีไม่เพียงพอต่อความต้องการ จึงได้เข้าไปถางป่า หรือถางที่รกร้างเพื่อทำไร่ทำนา หรือปลูกพืชเลี้ยงสัตว์ ทำให้ต้องมีการออกเอกสาร ภ.บ.ท.5 ขึ้นมา เพื่อเป็นหลักฐานยืนยันรับรองการครอบครองที่ดิน โดยการจ่ายภาษีบำรุงของผู้ทำกินบนที่ดินผืนนั้นเพื่อทำประโยชน์ แต่ไม่ถือว่าเป็นเจ้าของที่ดิน

ภ.บ.ท.5 คือ อะไร? เอกสารสิทธิ์ที่ดินมีอะไรบ้าง
เอกสารสิทธิ์ที่ดินมีหลายประเภท เราควรศึกษาข้อมูลให้ดีก่อนจะทำธุรกรรม เปลี่ยน โอนหรือซื้อขาย โดยนอกจากหนังสือแสดงสิทธิ์ในการครอบครองที่ดิน ภ.บ.ท.5 แล้ว ยังมีเอกสารสิทธิ์ในที่ดินแบบอื่น ๆ ที่ควรรู้ไว้ดังนี้
1. โฉนดที่ดิน หรือ น.ส.4
หรือเอกสารแสดงความเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ สามารถซื้อ ขาย โอน ค้ำประกัน จำนอง ได้ตามกฎหมาย ขั้นตอนการโอนต้องไปยื่นคำร้องจดทะเบียนการโอนกรรมสิทธิ์ที่สำนักงานที่ดินเท่านั้น เพื่อให้ได้สิทธิ์การเป็นเจ้าของที่ดินตามกฎหมายโดยถูกต้อง
2. ใบจองที่ดิน หรือ น.ส.2
เอกสารสิทธิ์ที่ออกให้โดยทางราชการเพื่อครอบครองที่ดินเป็นการชั่วคราว สำหรับให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์ โดยมีระยะเวลากำหนด ผู้ที่ได้รับเอกสารสิทธิ์ดังกล่าวต้องนำที่ดินไปใช้ประโยชน์ตามที่ทางการกำหนดไว้ หากในช่วงเวลานั้นไม่ดำเนินการตามสิทธิ์ที่กำหนด ทางราชการจะตัดสิทธิ์นำไปมอบให้กับผู้อื่นแทน
3. หนังสือรับรองการทำประโยชน์ หรือ น.ส.3
เอกสารรับรองจากทางราชการให้ใช้ประโยชน์ในที่ดินได้ โดยเมื่อได้ใช้ประโยชน์ในที่ดินแล้ว ผู้ถือสิทธิ์ น.ส.3 สามารถยื่นคำร้องขอให้ออกโฉนดที่ดินต่อไปได้ เท่ากับว่ามีโอกาสเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินผืนนั้นโดยสมบูรณ์ และสามารถนำที่ดินไปซื้อ ขาย หรือโอนได้
4. ใบไต่สวน หรือ น.ส.5
เอกสารประกอบการสอบสวนเพื่อขอออกโฉนดที่ดิน เพื่อการสำรวจรังวัดที่ดิน โดยผู้ครอบครองที่ดินเป็นผู้ชี้แนวเขต รายละเอียดว่าที่ดินผืนนั้นใคร ได้มาอย่างไร มีหลักฐานเอกสารยืนยันหรือไม่ หากไม่มีการคัดค้าน เจ้าหน้าที่ก็จะใส่ชื่อผู้ยืนยันตนบันทึกรายละเอียดลงในใบไต่สวน น.ส.5 เพื่อนำไปใช้เป็นหลักฐานในการขอออกโฉนดที่ดินต่อไป
. . . . . . . . . .
การจัดเก็บภาษีบำรุงท้องที่ ภ.บ.ท.5 หรือภาษีดอกหญ้า
ผู้มีหน้าที่เสียภาษีบำรุงท้องที่ ภ.บ.ท.5 คือ เจ้าของที่ดินที่มีสิทธิ์ครอบครองที่ดินผืนนั้น ที่ดินที่ต้องเสียภาษีบำรุงท้องที่นั้นรวมไปถึง พื้นที่ราบ พื้นที่ที่เป็นภูเขา หรือพื้นที่ที่มีน้ำ และไม่ใช่ที่ดินที่ได้รับการยกเว้นภาษี เจ้าของที่ดินมีหน้าที่เสียภาษีบำรุงท้องที่ ภ.บ.ท.5 ในทุกปี โดยการยื่นแบบแสดงรายการที่ดิน ภ.บ.ท.5 ต่อเจ้าหน้าที่ ที่ทำการประเมินในเขตที่ที่ดินตั้งอยู่
อัตราการจัดเก็บภาษีบำรุงท้องที่ ภ.บ.ท.5
- อัตราภาษีบำรุงท้องที่ ภ.บ.ท.5 ได้กำหนดไว้ในบัญชีท้ายพระราชบัญญัติภาษีบํารุงท้องที่ พ.ศ.2508
- ที่ดินเกินไร่ละ 30,000 บาท ให้เสียภาษีดังนี้ ราคาปานกลางของที่ดิน 30,000 บาทแรก เสียภาษี 70 บาท
- ส่วนที่เกินราคา 30,000 บาท ให้เสียภาษี 10,000 บาท ต่อ 25 บาท
- ที่ดินที่ใช้ประกอบการกสิกรรมเฉพาะประเภทไม้ล้มลุกให้เสียภาษีกึ่งอัตรา
- เจ้าของที่ดินประกอบกสิกรรมประเภทไม้ล้มลุกด้วยตนเอง ให้เสียอย่างสูงไม่เกินไร่ละ 5 บาท
- ที่ดินที่ทิ้งให้ว่างเปล่า ไม่ได้ทำประโยชน์ตามควรแก่สภาพของที่ดิน ให้เสียเพิ่มขึ้น 1 เท่า
การเสียเงินเพิ่ม นอกจากอัตราภาษีบำรุงท้องที่ ภ.บ.ท.5
เจ้าของที่ดินผู้ครอบครองอาจต้องเสียเงินเพิ่ม นอกจากเสียภาษีบำรุงท้องที่ ภ.บ.ท.5 ในกรณีต่อไปนี้
- ไม่ยื่นแบบแสดงรายการที่ดินภายในเวลาที่กำหนด ให้เสียเงินเพิ่มร้อยละ 10 ของจำนวนเงินที่ต้องเสียภาษีบำรุงท้องที่ เว้นแต่กรณีที่เจ้าของที่ดินได้ยื่นแบบแสดงรายการที่ดิน ก่อนที่เจ้าหน้าที่ประเมินจะได้แจ้งให้ทราบถึงการละเว้นนั้น ให้เสียเงินเพิ่มร้อยละ 5 ของจำนวนเงินที่ต้องเสียภาษีบำรุงท้องที่
- ได้ยื่นแบบแสดงรายการที่ดินโดยไม่ถูกต้อง ทำให้จำนวนเงินที่จะต้องเสียภาษีบำรุงท้องที่ลดน้อยลง ให้เสียเงินเพิ่มร้อยละ 10 ของภาษีบำรุงท้องที่ประเมินเพิ่มเติม เว้นแต่กรณีที่เจ้าของที่ดินได้มาขอแก้ไขแบบแสดงรายการที่ดินให้ถูกต้อง ก่อนที่เจ้าหน้าที่ประเมินแจ้งการประเมิน
- ชี้แนวเขตแจ้งจำนวนเนื้อที่ไม่ถูกต้องต่อเจ้าหน้าที่สำรวจ โดยทำให้จำนวนเงินที่จะต้องเสียภาษีบำรุงท้องที่ลดน้อยลง ให้เสียเงินเพิ่มอีก 1 เท่า ของภาษีบำรุงท้องที่ที่ประเมินเพิ่มเติม
- ไม่ได้ชำระภาษีบำรุงท้องที่ภายในระยะเวลาที่กำหนด ให้เสียเงินเพิ่มร้อยละ 24 ต่อปี ของจำนวนเงินที่ต้องเสียภาษีบำรุงท้องที่ เศษของเดือนให้นับเป็น 1 เดือน ทั้งนี้ ไม่ให้นำเงินเพิ่มตามข้อ 1 ข้อ 2 หรือข้อ 3 มาคำนวณ เพื่อเสียเงินเพิ่ม โดยเงินเพิ่มนั้นให้ถือว่าเป็นภาษีบำรุงท้องที่

ขั้นตอนในการติดต่อขอชำระภาษีบำรุงท้องที่ ภ.บ.ท.5
1. การยื่นแบบแสดงรายการที่ดิน ภ.บ.ท.5 กรณีผู้เป็นเจ้าของที่ดินหรือเป็นผู้ครอบครองที่ดิน ในวันที่ 1 มกราคม ของปีที่มีการตีราคาปานกลางที่ดิน
1.1 ผู้ที่มีหน้าที่เสียภาษีหรือเจ้าของผู้ครอบครองที่ดิน ต้องยื่นแบบแสดงรายการที่ดิน (ภ.บ.ท.5) พร้อมหลักฐานต่อเจ้าหน้าที่หน้าที่ประเมินภายในเดือนมกราคม
1.2 เจ้าหน้าที่ประเมินทำการตรวจสอบและคำนวณค่าภาษีแล้วแจ้งการประเมิน (ภ.บ.ท.9 หรือ ภ.บ.ท.10) ให้ผู้ที่มีหน้าที่เสียภาษี หรือเจ้าของผู้ครอบครองที่ดิน ทราบว่าจะต้องเสียภาษีเป็นจำนวนเงินเท่าใดภายในเดือนมีนาคม
1.3 ผู้มีหน้าที่เสียภาษีหรือเจ้าของผู้ครอบครองที่ดินต้องเสียภาษีบำรุงท้องที่ภายในเดือนเมษายนของทุกปี เว้นแต่กรณีได้รับใบแจ้งการประเมินหลังเดือนมีนาคม ให้ชำระภาษีภายใน 30 วัน นับจากวันที่ได้รับแจ้งการประเมิน
2. การยื่นแบบแสดงรายการที่ดิน ภ.บ.ท.5 กรณีเจ้าของที่ดิน หรือผู้ครอบครองรายใหม่ หรือจำนวนที่ดินเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
2.1 เจ้าของที่ดินที่ได้เปลี่ยนแปลงจำนวนเนื้อที่ดิน หรือเป็นผู้ได้รับโอนที่ดิน ต้องยื่นแบบแสดงรายการที่ดินหรือยื่นคำร้องขอเปลี่ยนแปลงจำนวนที่ดินต่อเจ้าหน้าที่ประเมินภายในระยะเวลา 30 วัน นับจากวันที่ได้รับโอนหรือมีการเปลี่ยนแปลงในที่ดิน โดยใช้แบบ ภ.บ.ท.5 หรือ ภ.บ.ท.8 แล้วแต่เป็นกรณีไป
2.2 เจ้าหน้าที่ได้รับแบบแสดงรายการที่ดินหรือคำร้องขอแล้ว จะออกใบรับให้เป็นหลักฐาน
2.3 เจ้าหน้าที่ประเมินแจ้งให้เจ้าของที่ดินทราบว่าจะต้องเสียภาษีในปีต่อไปเป็นจำนวนเท่าใด
3. การยื่นแบบแสดงรายการที่ดิน ภ.บ.ท.5 กรณีเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ในที่ดินอันเป็นเหตุให้การลดหย่อนเปลี่ยนแปลงไป หรือมีเหตุอย่างอื่นที่ทำให้อัตราการเสียภาษีบำรุงท้องที่เปลี่ยนแปลงไป
3.1 เจ้าของที่ดินผู้ครอบครองยื่นคำร้องตามแบบ ภ.บ.ท.8 พร้อมหลักฐานที่ต้องใช้ต่อเจ้าหน้าที่ประเมินภายใน 30 วัน นับจากวันที่มีการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดิน
3.2 เจ้าหน้าที่ประเมินได้รับแบบแสดงรายการที่ดิน หรือคำร้องขอแล้ว จะออกใบรับให้เป็นหลักฐาน
3.3 เจ้าหน้าที่ประเมินจะแจ้งให้เจ้าของที่ดินผู้ครอบครองทราบว่า จะต้องเสียภาษีในปีต่อไปเป็นจำนวนเท่าใด
3.4 การขอชำระภาษีบำรุงท้องที่ ภ.บ.ท.5 ในปีถัดไปจากปีที่มีการประเมินราคาปานกลางของที่ดิน ให้ผู้รับประเมินนำใบเสร็จรับเงินของปีก่อนไปชำระภายในเดือนเมษายนของทุกปี
ส่วนการขอคืนเงินจากการเสียภาษีบำรุงท้องที่ ภ.บ.ท.5 นั้น ให้ผู้ที่เสียภาษีบำรุงท้องที่ โดยที่ไม่ได้มีหน้าที่ต้องเสีย หรือผู้ที่เสียภาษีเกินกว่าที่ควรจะต้องเสีย มีสิทธิ์รับเงินคืนภายใน 1 ปี โดยสามารถยื่นคำร้องขอคืนกับเจ้าหน้าที่ ภายใน 1 ปี นับตั้งแต่วันที่ได้เสียภาษีบำรุงท้องที่
หลักฐานที่ต้องนำไปแสดงและยื่นเพื่อเสียภาษีบำรุงท้องที่ ภ.บ.ท.5
- บัตรประจำตัวประชาชนของเจ้าของที่ดิน
- ใบเสร็จรับเงินที่ชำระไว้ครั้งสุดท้าย (ถ้ามี)
- แบบแสดงรายการที่ดิน (แบบ ภ.บ.ท.5)
ในกรณีที่เจ้าของที่ดินไม่สามารถไปด้วยตนเองได้ สามารถทำหนังสือมอบอำนาจให้บุคคลอื่นไปดำเนินการแทนได้ โดยผู้รับมอบอำนาจต้องนำบัตรประจำตัวประชาชนและหลักฐานข้างต้นไปแสดงด้วย และการขอชำระค่าภาษีบำรุงท้องที่นั้นไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมใด ๆ
. . . . . . . . . .
ที่ดินที่เจ้าของที่ดินไม่ต้องเสียภาษีบำรุงท้องที่
- ที่ดินที่เป็นที่ตั้งพระราชวังอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน
- ที่ดินที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน หรือที่ดินของรัฐที่ใช้ในกิจการของรัฐ หรือสาธารณะ โดยมิได้หาผลประโยชน์
- ที่ดินของราชการส่วนท้องถิ่นที่ใช้ในกิจการของราชการส่วนท้องถิ่น หรือสาธารณะโดยมิได้หาผลประโยชน์
- ที่ดินที่ใช้เฉพาะการพยาบาลสาธารณะ การศึกษา หรือกุศลสาธารณะ
- ที่ดินที่ใช้เฉพาะศาสนกิจศาสนาใดศาสนาหนึ่ง ที่ดินที่เป็นกรรมสิทธิ์ของวัด ไม่ว่าจะใช้ประกอบศาสนกิจศาสนาใดศาสนาหนึ่ง หรือที่ศาลเจ้าโดยมิได้หาผลประโยชน์
- ที่ดินที่ใช้เป็นสุสาน หรือฌาปนสถานสาธารณะ โดยมิได้รับประโยชน์ตอบแทน
- ที่ดินที่ใช้ในการรถไฟ การประปา การไฟฟ้า หรือการท่าเรือของรัฐ หรือใช้เป็นสนามบินของรัฐ
- ที่ดินที่ใช้ต่อเนื่องกับโรงเรือน ที่ต้องเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินแล้ว
- ที่ดินของเอกชนเฉพาะส่วนที่เจ้าของที่ดินยินยอมให้ทางราชการใช้เพื่อสาธารณประโยชน์
- ที่ดินที่ตั้งขององค์การสหประชาชาติ ทบวงการชำนัญพิเศษของสหประชาชาติ หรือองค์การระหว่างประเทศอื่น ในเมื่อประเทศไทยมีข้อผูกพันให้ยกเว้นตามอนุสัญญาหรือความตกลง
- ที่ดินที่เป็นที่ตั้งของสถานทูตหรือสถานกงสุล ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามหลักถ้อยทีถ้อยปฏิบัติต่อกัน
- ที่ดินตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง
. . . . . . . . . . .

ที่ดิน ภ.บ.ท.5 สร้างบ้านได้ไหม?
แม้ ภ.บ.ท.5 จะไม่ใช่เอกสารสิทธิ์ในการเป็นเจ้าของที่ดินก็ตาม แต่หลายคนอาจจะสงสัยว่า ที่ดิน ภ.บ.ท.5 สร้างบ้านได้ไหม จริง ๆ แล้วการเข้าไปทำประโยชน์ในที่ดิน ภ.บ.ท.5 สามารถปลูกบ้าน สร้างโรงเรือน หรือสร้างอาคาร บนที่ดินได้ โดยต้องยื่นคำร้องขออนุญาตปลูกสร้างอาคารที่หน่วยงาน อบต. ที่ที่ดินนั้นตั้งอยู่ เพื่อให้เจ้าหน้าที่มาตรวจสอบที่ดิน ภ.บ.ท.5 เมื่อได้ใบอนุญาตก่อสร้างจาก อบต.แล้ว ก็นำไปดำเนินการขอออกเลขที่บ้าน ณ ที่ว่าการอำเภอ และดำเนินการขอใช้ไฟฟ้า หรือสาธารณูปโภคอื่น ๆ ต่อไป ส่วนบ้านหรืออาคารที่สร้างบนที่ดิน ภ.บ.ท.5 นั้น ถือเป็นทรัพย์สินหรืออสังหาริมทรัพย์ สามารถนำไปใช้ในการจำนองได้ด้วยเช่นเดียวกัน
ที่ดิน ภ.บ.ท.5 ซื้อขายได้หรือไม่?
ที่ดิน ภ.บ.ท.5 สามารถซื้อขายได้ แต่เป็นการซื้อขาย โอนกรรมสิทธิ์ในการครอบครองที่ดินจากบุคคลหนึ่งไปยังอีกบุคคลหนึ่งเท่านั้น ยังไม่ใช่การซื้อขายเพื่อเป็นเจ้าของที่ดินอย่างแท้จริง เป็นการทำสัญญาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1377 เป็นการสละเจตนาครอบครอง โอนเปลี่ยนมือ โอนขาย ชำระราคา ส่งมอบการครอบครอง เปลี่ยนชื่อผู้เสียภาษีในใบเสียภาษี เปลี่ยนจากชื่อผู้ขายเป็นชื่อผู้ซื้อแทน เท่ากับว่าเป็นหนังสือสัญญาที่ใช้ยืนยันกันระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขายเท่านั้น ไม่สามารถใช้สัญญาที่ว่านี้เป็นเอกสารยืนยันกับทางราชการในการเป็นเจ้าของได้ เพราะไม่ใช่การทำสัญญาตามประมวลกฎหมายที่ดิน การเปลี่ยนชื่อผู้เสียภาษีบำรุงท้องที่ สามารถทำได้ที่ อบต. ที่ที่ดินผืนนั้นตั้งอยู่ โดยเจ้าหน้าที่ อบต. เป็นผู้รับทราบเซ็นชื่อเป็นพยานลงนามในสัญญา และขั้นตอนทั้งหมดจะไม่มีการเก็บภาษีการโอนสิทธิ์หรือค่าธรรมเนียมใด ๆ
การทำสัญญาซื้อขายต้องตรวจสอบที่ดิน ภ.บ.ท.5 ให้ชัดเจน
ที่ดินไม่มีโฉนดมีด้วยกันหลายประเภท การซื้อขาย เปลี่ยน โอน ต้องตรวจสอบให้ชัดเจนว่าเป็นเอกสารสิทธิ์การครอบครองแบบใด หรือเป็นที่ดินไร้เอกสารสิทธิ์หรือไม่ เพราะการซื้อขายที่ดิน ที่ไม่มีความชัดเจนเรื่องเอกสารสิทธิ์ถือว่ามีความเสี่ยงเป็นอย่างมาก แม้กระทั่งที่ดินที่มีโฉนด ก็ยังต้องตรวจสอบให้แน่ชัดว่าโฉนดนั้นได้มาโดยถูกต้องหรือไม่ด้วยเช่นกัน
ตัวอย่างใบ ภ.บ.ท.5

ภาพตัวอย่างใบ ภ.บ.ท.5 ที่มาภาพจาก : kaset1009.com
การซื้อขายที่ดิน ภ.บ.ท.5 มีความเสี่ยงหรือไม่ อย่างไร?
เอกสารภาษีบำรุงท้องที่ ภ.บ.ท.5 คือ ใบเสร็จการเสียภาษี ไม่ใช่เอกสารในการรับรองสิทธิ์โดยกรมที่ดิน และมีความเสี่ยงได้เช่นกันว่าที่ดินดังกล่าวอาจจะทับซ้อนกับที่ของผู้อื่น หรือเป็นที่ดินที่ทับซ้อนกับที่สาธารณประโยชน์ เขตป่าสงวนเขตอุทยานแห่งชาติ เขตปฏิรูปที่ดิน หรือเขตทหารในเขตพื้นที่นั้น ซึ่งหากเกิดข้อพิพาทขึ้นมา เอกสาร ภ.บ.ท.5 นั้น จะไม่สามารถยืนยัน หรือคัดค้านการถูกยึดที่ดินคืนจากรัฐได้ จึงต้องตรวจสอบให้แน่ชัด โดยสามารถตรวจสอบกับกรมป่าไม้ อุทยานแห่งชาติ หรือกรมทหารได้ว่า ที่ดินผืนดังกล่าวเป็นพื้นที่ทับซ้อนกันหรือไม่ หรือไปตรวจสอบกับกรมที่ดิน เพื่อจะได้ทราบว่าที่ดินผืนนั้นเป็นที่ดินกรรมสิทธิ์ของบุคคลอื่นหรือไม่ โดยตรวจสอบจากพิกัด หรือระวางที่ดิน ซึ่งระบุอยู่บน ภ.บ.ท.5 นอกจากนี้ที่ดิน ภ.บ.ท.5 ยังมีความเสี่ยงเรื่องขนาดที่ดิน ที่อาจจะคลาดเคลื่อนจากที่ระบุไว้ในเอกสารได้ เพราะเอกสาร ภ.บ.ท.5 ระบุเพียงเนื้อที่โดยประมาณของที่ดิน ไม่ได้มาจากการรังวัดตามหลักการของกรมที่ดิน
. . . . . . . . . .
ข้อควรระวังก่อนซื้อขายที่ดิน ภ.บ.ท.5 รวมถึงเอกสารสิทธิ์ที่ดินอื่น ๆ
แม้จะตกลงทำสัญญาซื้อขายที่ดิน ภ.บ.ท.5 โดยผู้ขายมีเจตนาสละสิทธิ์การครอบครอง ให้ผู้ซื้อเข้าปกครองเป็นเจ้าของผู้ครอบครองที่ดิน แต่การซื้อขายที่ดินก็มีข้อควรระวังดังนี้
- การทำสัญญาซื้อขายที่ดิน ภ.บ.ท.5 ควรระบุเงื่อนไขให้ชัดเจน เช่น ที่ดินที่ซื้อขาย ตั้งอยู่ที่ใด หมู่บ้านใด ตำบลใด เนื้อที่เท่าไหร่ กี่ไร่ กี่งาน กี่ตารางวา ที่ดินแต่ละทิศ เช่น ทิศเหนือ ทิศใต้ ทิศตะวันออก ทิศตะวันตก ติดต่อกับเขตของใครบ้าง ขนาดที่ดินเท่าไหร่ ระบุให้ชัดเจนเพื่อป้องกันข้อผิดพลาด
- ระบุในสัญญาซื้อขายที่ดิน ภ.บ.ท.5 รับรองว่าที่ดินตามสัญญาซื้อขายดังกล่าวนั้น จะไม่มีภาระผูกพันหรือการลิดรอนสิทธิ์ไม่ว่ากรณีใด ๆ หลังการทำสัญญาซื้อขายที่ดิน ให้ลงในสัญญาว่าผู้ขายจะไม่เข้ามาทำการใด ๆ เป็นเหตุให้ที่ดินนั้นเสื่อมค่า เสื่อมประโยชน์หรือเสื่อมราคา หากผู้ขายไม่ปฏิบัติตามสัญญาดังกล่าว เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายกับผู้ซื้อ ผู้ขายจะยินยอมรับผิดและชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดจากการไม่ปฏิบัติตามสัญญาซื้อขายที่ดินแก่ผู้ซื้อ
- การทำสัญญาซื้อขายที่ดิน ภ.บ.ท.5 ควรให้มีพยานรู้เห็นมากกว่า 1 คน เช่น เจ้าหน้าที่องค์การบริหารส่วนตำบล หรือผู้ที่สามารถเป็นพยานได้อื่น ๆ หรือเจ้าของที่ดินที่มีเขตที่ดินติดกันกับที่ดินที่ทำสัญญาซื้อขาย
- ควรตรวจสอบ ราคาประเมินที่ดิน ภ.บ.ท.5 วัดเนื้อที่ทั้งหมดให้ชัดเจนให้ตรงกับที่ได้ตกลงกันในหนังสือสัญญาซื้อขาย ควรถ่ายรูปการวัดที่ดินเก็บไว้เป็นหลักฐาน และแจ้งให้เจ้าของที่ดินข้างเคียงได้รับรู้ด้วยเช่นเดียวกัน
- ถ่ายรูปหลักฐานการส่งมอบ การโอนเงิน สลิปใบเสร็จต่าง ๆ หรือใบสำคัญการโอนเงินผ่านทางธนาคาร ในการทำสัญญาซื้อขายที่ดิน ภ.บ.ท.5 เก็บไว้ทั้งหมดเพื่อป้องกันปัญหา หรือข้อพิพาทที่อาจจะเกิดขึ้นได้
เอกสารที่ดิน ภ.บ.ท. 5 สามารถขอออกเอกสารสิทธิ์ได้หรือไม่?
ผู้ครอบครองที่ดิน ภ.บ.ท.5 หรือภาษีบำรุงท้องที่ จะสามารถขอออกเอกสารสิทธิ์ที่ดินในแบบอื่นได้ ก็ต่อเมื่อรัฐบาลหรือกรมที่ดินประกาศเรียกให้ผู้ครอบครองที่ดินนำเอกสาร ภ.บ.ท.5 ไปออกเอกสารสิทธิ์ในการครอบครองที่ดินเท่านั้น หลักฐานการเสียภาษี ภ.บ.ท.5 จึงจะนำมาใช้เป็นเอกสารในการประกอบคำร้องออกเอกสารสิทธิ์ตามประมวลกฎหมายที่ดินได้ แต่ทั้งนี้ที่ดิน ภ.บ.ท.5 ที่ครอบครองอยู่นั้น ต้องไม่อยู่ในเขตที่ดินของกรมป่าไม้ เขตทหาร หรือทับซ้อนอยู่บนเขตที่ดินของผู้อื่น
ภ.บ.ท.5 ยกเลิกการเรียกเก็บภาษีบำรุงท้องที่
อย่างไรก็ตามปัจจุบัน ได้มีการยกเลิกการเรียกเก็บภาษีบำรุงท้องที่ ภ.บ.ท.5 เนื่องจากเกิดการเข้าใจผิดว่า ภ.บ.ท.5 เป็นหนังสือกรรมสิทธิ์ในการเป็นเจ้าของที่ดิน จนทำให้เกิดการรุกป่าสงวนเพิ่มขึ้นเป็นวงกว้าง รัฐบาลจึงให้งดการประเมินภาษีบำรุงท้องที่เพื่อป้องกันการอ้างสิทธิ์ครอบครองที่ดินป่าสงวนแห่งชาติเอาไว้ แต่ได้ผ่อนผันโดยการออกหนังสืออนุญาต ส.ท.ก.1 และ ส.ท.ก.2 เพื่อให้ได้อยู่อาศัยทำกินในที่ดินต่อไปก่อนเป็นการชั่วคราว ในฐานะผู้ได้รับอนุญาตไม่ใช่ฐานะเจ้าของที่ดิน และไม่ต้องเสียภาษีบำรุงท้องที่ ภ.บ.ท.5
. . . . . . . . . .
เป็นอย่างไรบ้างกับเนื้อหาสาระเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับกฎหมายอสังหาฯ ดี ๆ ที่คอนโดนิวบ์นำมาฝากเพื่อน ๆ ผู้อ่านถึง ภ.บ.ท.5 หรือภาษีกอดหญ้านั้นสำคัญอย่างไร และทำไมถึงควรรู้ก่อนซื้อขายที่ดินนั่นเอง หากชื่นชอบบทความดี ๆ ของพวกเรา ก็สามารถติดตามเพิ่มเติมได้ทางเว็บไซต์ข่าวสารอสังหาฯ และการลงทุนคอนโดทาง CondoNewb ไว้ได้เลย