คนทำเกษตรกรรม ทำสวน ทำไร่ ปลูกพืชผัก คงจะรู้จักเจ้าแมลงที่ชื่อว่าเพลี้ยกันเป็นอย่างดี เพราะเจ้าแมลงตัวร้ายตัวนี้ถือเป็นศัตรูอันดับ 1 ที่คอยจู่โจม ทำลายทั้งไม้ดอกและไม้ผลที่เราปลูกมานานแสนนาน จนเราช้ำใจได้ เพราะเจ้าแมลงตัวจิ๋วศัตรูพืชตัวฉกาจตัวนี้มีฤทธิ์มากมาย หากปล่อยไว้ไม่ป้องกัน หรือไม่กำจัดเสียแต่เนิ่น ๆ มันสามารถทำลายพืชไร่ให้ล่มสลายยกสวนกันได้เลยภายในพริบตาเดียว ส่วนใหญ่แล้วจะพบได้ทุกที่ ทั้งสวน นา ไร่ แตกต่างกันที่ว่าจะเป็นสายพันธุ์ไหน แต่ไม่ว่าจะพันธุ์ไหน มันก็สามารถทำให้ต้นไม้ของเราตายได้ภายในเวลาไม่นาน ดังนั้น อย่าได้รอช้า เรามาทำความรู้จักกับสูตรเด็ด วิธีกำจัดเพลี้ย ศัตรูตัวร้ายของเกษตรกรอย่างได้ผลทันใจ ง่าย ๆ ไม่ยุ่งยาก ทำได้ด้วยตัวเองกันเลยดีกว่า
. . . . . . . . . .
เพลี้ยมาจากไหน คือแมลงอะไรกันแน่ ?
เพลี้ย หรือ Aphids เป็นแมลงที่อยู่ในตระกูล Aphidoidea มีชื่อเป็นทางการคือ Greenfly หรือ blackly แม้จะเกิดจากสปีชีส์เดียวกัน แต่ก็จะมีความแตกต่างกันที่รูปร่างและสี ขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็วโดยไม่ต้องใช้ตัวผู้ แมลงตัวเมียนั้นเมื่อตอนแรกเกิดจะไม่มีปีก แต่จะมีปีกงอกออกมาเมื่อเปลี่ยนฤดูกาล ทำให้มันสามารถบินไปยังต้นพืชต่าง ๆ เพื่อหาอาหารดูดกินได้ต่อเนื่อง โดยเพลี้ยถูกยกให้เป็นศัตรูตัวร้ายอันดับ 1 ของพืช จากการที่มันทำลายพืชผักผลไม้ด้วยการดูดสารอาหารจากใบ ก้าน และดอก จนทำให้พืชล้มตายในที่สุด นอกจากนั้น ยังเป็นพาหะนำเชื้อไวรัสได้อีกด้วย ซึ่งทำให้เกิดโรคราดำในพืชผักของเรานั่นเอง
เพลี้ยมีหลายชนิด หลายวงศ์ตระกูล ขนาดตัวเล็กจิ๋วมาก ตาใส มีทั้งสีขาว สีดำ สีเหลือง สีเทา สีน้ำตาล หรือบางทีก็มีสีชมพูบ้าง รูปร่างหน้าตาลักษณะทางกายภาพจะแตกต่างหลากหลาย มีทั้งชนิดที่มีขน มีหนวด ฯลฯ ปะปนกัน และการแยกระหว่างแมลงที่เป็นตัวอ่อน (Hemiptera Aphididae) กับแมลงตัวที่มีอายุมากก็แยกได้ยาก ด้วยเพราะขนาดตัวของมันที่ไม่แตกต่างกัน การกัดกินอาหารจะเริ่มจากดูดกินพืชต้นหนึ่งแล้วก็ย้ายไปต้นถัดไปเรื่อย ๆ เหมือนเป็นการขยายอาณาเขต ส่วนใหญ่แล้วจะเรียกชื่อตามลักษณะของเพลี้ยแต่ละชนิด หรือเรียกตามพืชที่ไปเกาะดูดกิน
สายพันธุ์หลัก ๆ ของเพลี้ยที่พบเห็นบ่อย ๆ

- Cabbage Aphid สายพันธุ์นี้จะพบที่ใต้ใบของพืชผักในวงศ์กะหล่ำ (Cruciferae) เช่น กะหล่ำปลี หัวไชเท้า ฯลฯ ส่วนใหญ่แล้วจะพบในเขตภาคเหนือของประเทศไทย สายพันธุ์นี้จะมีลักษณะลำตัวยาว และเป็นสีเทา-เขียว
- Apple Aphid สายพันธุ์นี้จะพบมากในต้นแอปเปิล หรือต้นไม้ที่ให้ความหวาน ทำให้ต้นไม้เสี่ยงต่อการเป็นโรคราดำ เพลี้ยสายพันธุ์นี้มีส่วนหัวสีเหลืองหรือสีเขียวเข้ม
- Wolly Aphid สายพันธุ์นี้พบอยู่อาศัยเกาะกินอยู่ที่โคนรากของต้นแอปเปิล หรือต้นไม้ที่ให้ความหวาน มันจะเข้าไปกัดกิน จนทำให้ต้นไม้หยุดการเจริญเติบโต และถึงตายได้ในที่สุด
- Rose Aphid สายพันธุ์นี้จะพบมากในต้นกุหลาบ ลำตัวจะมีขนาดตัวใหญ่กว่าสายพันธุ์อื่น สีเขียว-ดำ โดยมันจะดูดกินน้ำเลี้ยงที่ใบของกุหลาบ ทำให้ขาดน้ำจนใบบิดเบี้ยวเป็นคลื่น มีรอยไหม้สีน้ำตาล ดำ จนถึงยืนต้นแห้งตาย
- Potato Aphid สายพันธุ์นี้จะวางไข่สีดำที่ต้นกุหลาบ เมื่อไข่ฟักตัวแล้วจะเป็นตัวสีชมพูอ่อน พออุณหภูมิอุ่นขึ้น ในช่วงฤดูร้อนเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคมก็จะย้ายไปอยู่ที่พืชตระกูลมันฝรั่งแทน โดยเพลี้ยสายพันธุ์นี้นอกจากจะดูดกินสารจากพืชแล้วยังเป็นพาหะของไวรัสมะเขือเทศและไวรัสมันฝรั่งอีกด้วย
- Cotton Aphid สายพันธุ์นี้จะพบในพืชผักวงศ์แตง (Cucerbitaceae) เช่น แตงกวา เมล่อน ฟักทอง ฯลฯ จะมีการวางไข่ในฤดูหนาว และขยายพันธุ์ในฤดูร้อน
- Corn Aphid แมลงสายพันธุ์นี้จะมีมดช่วยย้ายแหล่งไปยังจุดที่มีน้ำหวาน เพราะเพลี้ยสายพันธุ์นี้จะดูดกินน้ำหวานจากพืช แล้วย่อยออกมาเป็นหยดน้ำหวานที่เป็นอาหารของมด ทำให้มดช่วยขนย้ายไข่อ่อนไปยังบริเวณใหม่เพื่อไปยังจุดที่มีน้ำหวาน เช่น ขนย้ายไปอยู่บริเวณรากข้าวโพด
จำแนกลักษณะสำคัญของเพลี้ยแบ่งตามวงศ์ต่าง ๆ
รูปร่างของแมลงตัวร้ายศัตรูพืชตัวนี้จะมีสองลักษณะสำคัญ ๆ คือ อย่างแรกปากจะอยู่ตรงหัวใกล้กับส่วนลำตัว และปากจะมีรูปร่างคล้ายเข็มมีไว้สำหรับเจาะดูด กัดกินอาหาร และอีกแบบปากจะอยู่ตรงส่วนปลายหัว ทำหน้าที่เขี่ยดูดอาหาร โดยส่วนใหญ่แล้วแมลงชนิดนี้จะไม่มีปีก แต่ก็มีแมลงชนิดที่มีปีก ก็จะมีปีกที่บางและอ่อน และมีปีกที่มีลักษณะบางยาว แบบปีกแคบ แบบมีขน สามารถแบ่งลักษณะตามวงศ์ใหญ่ ๆ ได้ เช่น
- วงศ์ Cicadellidae มีรูปร่างคล้ายจั๊กจั่น มักจะถูกเรียกว่า เพลี้ยจั๊กจั่น
- วงศ์ Cercopidae เป็นสายพันธุ์ที่ชอบกระโดด โดยมีข้อต่อของขาหลังจนถึงเกือบปลายขา เป็นลักษณะหนามเป็นกระจุก และในฟองน้ำลายจะแตกตัวเหมือนฟองสบู่จะมีตัวอ่อนอาศัยอยู่
- วงศ์ Aphididae จะมีลักษณะลำตัวนุ่ม ดูบอบบาง ซึ่งจะเรียกกันว่าเพลี้ยอ่อน มีลักษณะหัวเรียวเล็ก ก้นใหญ่ และปลายหางมีลักษณะกลมมน ส่วนท้ายของลำตัวจะมีท่อ 2 ท่อ ยื่นออกมาคล้ายกับหาง
- วงศ์ Coccidae เรียกว่าเพลี้ยแป้ง มีลักษณะพิเศษคือจะกลั่นสารสีขาวออกมาคลุมตัว หรือจะบางชนิดที่กลั่นสารที่คล้ายกับครั่ง ออกมาคลุมตัว จะคล้าย ๆ กับฝาหอย จะเรียกว่าเพลี้ยหอย
เพลี้ยมีกี่ชนิด แบ่งเป็นชนิดใดบ้าง?
1. เพลี้ยไฟมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ คือ Stenchaetohrips Biformis (Bagnall) อยู่ในวงศ์ Tripidae
- ลักษณะเฉพาะ เป็นแมลงประเภทปากดูด ลำตัวเล็กยาว ความยาวประมาณ 1-2 มิลลิเมตร มีทั้งแบบมีปีกและไม่มีปีก ขณะที่เพลี้ยเป็นตัวอ่อนจะมีสีเหลืองอ่อน เมื่อโตเต็มที่จะมีสีดำ ระยะจากตัวอ่อนฟักตัวจนถึงโตเต็มวัยจะใช้เวลาประมาณ 15 วัน โดยจะชอบวางไข่บริเวณเนื้อเยื่อของใบข้าว
- ลักษณะการทำลายพืชพันธุ์ ต้นข้าวจะถูกดูดกินน้ำเลี้ยงจากใบข้าว ทำให้ใบเหี่ยว ม้วนตัว หงิกกลม ซึ่งจะพบได้มากในระยะที่เป็นต้นกล้า หรือในช่วงหลังการปักดำนา 2-3 สัปดาห์ ทั้งนี้ เพราะเพลี้ยไฟจะเริ่มเข้าเกาะกินอาหารตั้งแต่ข้าวยังเป็นต้นกล้า และหากต้นกล้าอยู่ในช่วงขาดน้ำ ฝนแล้ง หากเกิดเข้ามาเกาะกินมาก ๆ ระบาดมาก ๆ จะทำให้ต้นข้าวตายยกแปลงได้
วิธีกำจัดเพลี้ยไฟ
กำจัดด้วยสมุนไพร
ใช้สมุนไพร 9 ชนิด ใบสะเดา ใบยูคา ใบยาสูบ สาบแล้ง สาบกา ข่า ตระไคร้หอม และใบสามสิบกลีบ อย่างละ 1 กิโลกรัม นำมาสับพอประมาณและคลุกเคล้าให้เข้ากัน นำไปหมักในถังความจุ 10 ลิตร พร้อมกับน้ำสะอาด 10 ลิตร หมักทิ้งไว้ 3-5 วัน แล้วจึงนำไปกรองน้ำ จากนั้นใช้น้ำที่กรองแล้ว 1 ลิตร ผสมกับน้ำเปล่า 20 ลิตร นำไปฉีดหรือพ่นนาข้าวช่วงเช้าหรือเย็น ทุก ๆ 3 วัน สูตรนี้ยังสามารถกำจัดเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลได้ด้วย
กำจัดด้วยสารธรรมชาติ
นำยาสูบ 1 ขีด มะพร้าวขูด 2 ขีด มาคลุกให้เข้ากัน จากนั้นเติมน้ำร้อน 1 ลิตร ปล่อยทิ้งไว้ให้เย็น แล้วนำไปกรองคั้นน้ำออกมา เรียกกันว่าสารสกัดยาสูบกะทิสด แล้วนำน้ำสับปะรดสุก 1 ลิตร ผสมกับน้ำสารสกัดยาสูบกะทิสด พร้อมกับผสมกาแฟผง 1 ขีดลงไป เราจะได้สารธรรมชาติในการกำจัดแมลงร้ายชนิดนี้ นำไปใช้งานโดยใช้สาร 1 ลิตร ผสมกับน้ำ 200 ลิตร ฉีดพ่นในช่วงออกรวงดอก หากยังพบว่ามีการระบาดอยู่ให้พ่นซ้ำภายใน 7 วัน สารธรรมชาตินี้จะเร่งปฏิกิริยาทำลายตัวอ่อนและไข่ของเพลี้ยไฟอย่างได้ผล
กำจัดด้วยสารเคมี ให้ใช้มาลาไทออน (Malathyon) จำนวน 30 ซีซี ผสมกับน้ำสะอาด 20 ลิตร หรือใช้คาร์บาริล (Carbaryl) 30 กรัม ผสกับน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นให้ทั่ว
2. เพลี้ยอ่อน หรือ Hemiptera Aphididae
- ลักษณะเฉพาะ ชอบอาศัยเกาะกินพืชในวงศ์พริก มะเขือ (Solanaceae) วงศ์แตง (Cucerbitaceae) วงศ์กะหล่ำ (Cruciferae) และวงศ์ถั่ว (Leguminosae) และยังชอบกัดกินผลไม้และดอกไม้อื่น ๆ อีกด้วย การขยายพันธุ์เหมือนชนิดอื่น แต่หากสภาพแวดล้อมเปลี่ยน เพลี้ยอ่อนจะมีความพิเศษมากขึ้น คือสามารถขยายพันธุ์ได้เองโดยไม่ต้องใช้เพศมาเป็นตัวช่วย รวมทั้งยังออกลูกเป็นตัวเต็มวัยพร้อมกับมีปีกบินไปหาอาหารได้ทันทีเลย เป็นการข้ามขั้นตอนระยะการเติบโตจากช่วงเป็นตัวอ่อนกลายเป็นช่วงโตเต็มวัยไปเลย
- ลักษณะการทำลายพืชพันธุ์ มักจะชอบกัดกินตามลำต้น ใบ ของพืชต่าง ๆ และชอบดอกไม้ที่กำลังเริ่มออกดอก หรือเกสรอ่อน ๆ จนส่งผลทำให้พืชผักหรือดอกไม้เหี่ยวเฉาจนตายได้ นอกจากมันดูดกินสารอาหารต่าง ๆ แล้ว ในมูลของเพลี้ยชนิดนี้จะมีน้ำหวานสะสมเชื้อโรคต่าง ๆ เอาไว้ อันเป็นอีกสาเหตุที่ทำให้พืชผักเหี่ยวเฉาและแห้งตายได้เช่นกัน เราอาจจะป้องกันด้วยวิธีง่าย ๆ ได้โดยใช้พลาสติกคลุมแปลงพืชผักของเราเอาไว้
วิธีกำจัดเพลี้ยอ่อน
กำจัดด้วยสมุนไพร
ใช้บอระเพ็ด หรือเมล็ดสะเดา นำมาสับหรือบดให้ละเอียด แช่น้ำทิ้งไว้ประมาณ 1 คืน แล้วค่อยเอามากรองเฉพาะน้ำ จากนั้นให้นำไปพ่นต้นไม้ให้ทั่ว เพลี้ยอ่อนไม่ชอบรสขมก็จะบินหนีไปไม่กลับมาอีกเลย
กำจัดด้วยสารธรรมชาติ
นำพริกแห้งประมาณ 100 กรัม บดให้ละเอียด ผสมน้ำสะอาด 1 ลิตร ทิ้งไว้ 1 วัน แล้วกรองเอาน้ำที่ได้มาผสมกับน้ำและน้ำสบู่ ในอัตราส่วน 5 ต่อ 1 จากนั้นให้เรานำไปรดต้นไม้ทุก ๆ 7 วัน สูตรพริกแห้งนี้ต้องระวังอย่าให้โดนผิวหนังของเราโดยตรง เพราะจะทำให้เราเกิดอาการแสบร้อนได้
3. เพลี้ยแป้ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Pseudococcus sp.
- ลักษณะเฉพาะ มีลำตัวสีเหลืองอ่อนและมีผงสีขาวอยู่ตามลำตัว ลำตัวจะอ้วนสั้น จำได้ง่ายกว่าชนิดอื่น ๆ เพราะมีสีขาวชัดเจน เมื่อโตเต็มวัยจะมีความยาวประมาณ 3 มิลลิเมตร โดยส่วนใหญ่จะวางไข่เป็นกลุ่มตามใบ กิ่ง ผล ฯลฯ ของพืช และจะวางไข่เป็นกลุ่ม กลุ่มละประมาณ 100-200 ฟอง โดยตัวเมีย 1 ตัว สามารถวางไข่ได้มากถึง 600-800 ฟอง โดยใช้เวลาฟักตัวอยู่ในถุงใต้ท้องประมาณ 6-10 วัน จากนั้นจึงจะฟักออกมาเป็นตัวอ่อน ตัวเมียจะมีการลอกคราบ 3 ครั้ง ช่วงการวางไข่จะอยู่ช่วงหลังลอกคราบครั้งที่ 3 ใน 1 ปี แมลงชนิดนี้จะวางไข่ประมาณ 3 ครั้ง สำหรับแมลงตัวผู้จะลอกคราบ 4 ครั้ง และมีลักษณะปีกเล็กกว่าของตัวเมีย หากไม่มีพืชที่เป็นอาหารก็มักจะเกาะกินตามรากพืชอื่น ๆ และจะมีมดทำหน้าที่พาไข่ หรือตัวอ่อนของเพลี้ยแป้งไปยังที่แหล่งอาหารแห่งใหม่
- ลักษณะการทำลายพืชพันธุ์ ส่วนใหญ่จะดูดกินสารอาหารจากใบ กิ่ง ก้าน และผล รวมทั้งดอกไม้ ส่งผลให้พืชผัก ดอกไม้เหล่านั้นแคระ หรือหยุดการเติบโต และจะมีสีดำที่เกิดจากเชื้อราขึ้นตามจุดต่าง ๆ หากเป็นผลไม้ก็จะทำให้ไม่น่าทาน และยังอาจเป็นอันตรายจากเชื้อราที่มองไม่เห็นได้อีกด้วย
วิธีกำจัดเพลี้ยแป้ง
กำจัดด้วยสารเคมี
ให้น้ำยาล้างจานแบบที่ไม่มีสารฟอกขาว 3 ช้อนโต๊ะ ผสมกับน้ำ 20 ลิตร ราดรด หรือใส่ขวดสเปรย์ฉีด จะมีฤทธิ์ทำให้สีขาวที่คลุมตัวหลุดออก ทำให้หายใจไม่ได้
กำจัดด้วยพริกสด นำพริกสดตำให้ละเอียด จำนวน 1-2 ช้อนชา ผสมกับน้ำยาล้างจานแบบไม่มีสารฟอกขาว 1 ช้อนโต๊ะ กระเทียมและหอมแดงขนาดใหญ่อย่างละ 1 หัว นำไปปั่นรวมกัน จากนั้นให้เติมน้ำ 2 ลิตร แล้วปล่อยทิ้งไว้ 1 คืน แล้วนำไปกรอง เพื่อรดต้นไม้ หรือใส่ขวดสเปรย์ฉีดบ่อย ๆ แต่ต้องระวังอย่าให้โดนใบอ่อนหรือยอดอ่อน เพราะอาจทำให้ใบไหม้ได้
กำจัดด้วยเหล้าขาว
วิธีนี้จะออกฤทธิ์กำจัดรุนแรงมากขึ้น โดยใช้เหล้าขาว 2 ขวด น้ำส้มสายชู 5 เปอร์เซ็นต์ 1 ลิตร สาร EM 1 ลิตร กากน้ำตาล 1 ลิตร น้ำสะอาด 10 ลิตร ผสมและหมักไว้ประมาณ 10-15 วัน ในระหว่างนั้นต้องคอยหมั่นคนให้เข้ากัน และเพื่อไม่ให้ตกตะกอนนอนก้น และไม่ควรปิดฝาแน่น เพราะจะได้ช่วยให้ก๊าซที่เกิดจากการหมักหมมได้ระบายออกมา เมื่อครบกำหนดแล้วให้นำน้ำที่หมักประมาณ 1-5 ช้อนโต๊ะ ผสมกับน้ำ 5-10 ลิตร นำไปรดต้นไม้ หรือใส่ขวดสเปรย์พ่น 3 วันต่อครั้ง โดยสามารถสลับกับการฉีดพ่นปุ๋ยน้ำ หรือในกรณีที่เป็นพืชสวนให้พ่นทุก ๆ 3-7 วัน สลับกับการพ่นปุ๋ยน้ำเช่นเดียวกัน

4. เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ Nilaparvata Lugens (Stal) อยู่ในวงศ์ Delphaciadae
- ลักษณะเฉพาะ เป็นเพลี้ยประเภทปากดูด ชอบอาศัยอยู่บริเวณกอข้าวหรือโคนของต้นข้าว เมื่อโตเต็มวัยจะขึ้นมาอาศัยอยู่กลางลำต้นข้าว มีสีน้ำตาล หรือน้ำตาลปนดำ มีทั้งแบบปีกยาวและปีกสั้น พันธุ์ปีกยาวจะชอบวางไข่เป็นกลุ่ม บริเวณกาบใบข้าว หรือเส้นกลางใบ วางไข่แต่ละครั้งประมาณ 100 ฟอง ไข่จะเหมือนรูปกระสวยโค้ง ลักษณะคล้าย ๆ กล้วยหอม มีสีขาวขุ่น โดยมีระยะฟักตัวอ่อนประมาณ 15-17 วัน โตเต็มที่ลำตัวจะมีความยาวประมาณ 4-4.5 มิลลิเมตร ย้ายแหล่งหาอาหารได้ทั้งใกล้และไกลโดยอาศัยลมพัด ส่วนพันธุ์ปีกสั้นจะวางไข่ครั้งละประมาณ 300 ฟอง ใช้เวลาจนโตเต็มวัยประมาณ 14 วัน ใน 1 ฤดู จะขยายพันธุ์ได้มากถึง 2-3 Generation เลยทีเดียว
- ลักษณะการทำลายพืชพันธุ์ จะเข้าไปดูดกินน้ำเลี้ยงจากต้นข้าวที่อยู่ตามใบและลำต้นที่อยู่เหนือน้ำ ส่งผลให้ต้นข้าวมีลักษณะคล้ายโดนน้ำร้อนลวก ใบจะมีสีเหลือง แห้งไหม้ (Hopperburn) เราจะพบอาการเช่นนี้ได้ ในช่วงที่ข้าวอยู่ในช่วงออกรวงแล้ว สำหรับนาข้าวที่น้ำแห้งนั้น ตัวอ่อนของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลจะเข้าไปเกาะอาศัยบริเวณกอข้าว หรือบนดินที่เปียกชื้น นอกจากจะสามารถทำลายพืชผักให้เสียหายได้คราวละมาก ๆ แล้ว แมลงชนิดนี้ยังเป็นพาหะนำเชื้อไวรัสโรคใบหงิก ทำให้บริเวณปลายใบของต้นข้าวบิดเกลียว ขอบใบจะขาดหรือแหว่ง ส่งผลให้ใบเล็กสั้น โตช้า และทำให้ต้นข้าวแคระแกร็นอีกด้วย
วิธีการกำจัดเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล
กำจัดด้วยสมุนไพร
ใช้พริกไทยดำประมาณ 2-3 ขีด ตำให้ละเอียด จากนั้นนำน้ำตาลทรายแดง 1 กิโลกรัม น้ำมะพร้าว 3 ลิตร เหล้าขาว 2 ขวดใหญ่ ผสมลงในถัง 20 ลิตร แล้วคนให้เข้ากัน หมักทิ้งไว้ 7 วัน เมื่อครบ 7 วันแล้ว ให้กรองเอาน้ำออกมาใช้งาน ด้วยการผสมกับน้ำสะอาด 20 ลิตร น้ำหมัก 50 มิลลิลิตร นำไปฉีดหรือพ่นต้นไม้ในช่วงเช้าก่อนที่จะมีแสงแดด
กำจัดด้วยสารเคมี
แบ่งเป็นระยะการใช้งานได้ดังนี้
- ระยะออกกล้าจนถึงช่วงแตกกอ หรืออายุต้นข้าวประมาณ 30-40 วัน ใช้บูโพรเฟซิน (Buprofezin) 25% WP10 กรัม ผสมกับน้ำอีก 20 ลิตร
- ระยะข้าวแตกกอเต็มที่ ให้ใช้อีโทเฟนพร็อกซ์ (Etofenprox) 10% EC 20 CC ผสมกับน้ำ 20 ลิตร
- ระยะข้าวตั้งท้องจนออกรวง ให้ใช้ไทอะมิโทแซม (Thiamethoxam) 25% WG 2 กรัม ผสมกับน้ำ 20 ลิตร
ห้ามใช้สารเคมีกลุ่มไพรีทรอยด์ (Pyrethroids) สังเคราะห์แบบพ่นน้ำโดยเด็ดขาด เพราะจะทำให้เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลแพร่ระบาดมากยิ่งขึ้น
5. เพลี้ยกระโดดหลังขาว ชื่อวิทยาศาสตร์ Sogatella Furcifera (Horvath)
- ลักษณะเฉพาะ เป็นเพลี้ยชนิดปากดูด ชอบอาศัยอยู่บริเวณกอข้าวหรือโคนต้นข้าว และเมื่อโตเต็มวัยจะอาศัยอยู่บริเวณช่วงกลางของต้นข้าว แต่จะอยู่สูงกว่าบริเวณที่สายพันธุ์สีน้ำตาลอาศัยอยู่ แม้ว่ารวม ๆ มีลักษณะรูปร่างคล้าย ๆ กัน แต่จะแตกต่างกันที่จะมีจุดดำที่ส่วนกลางและส่วนปลายของปีก และตรงกลางลำตัวจะมีแถบเส้นสีขาว เมื่อโตเต็มที่แล้วจะมีสีน้ำตาล สีดำ และมีลำตัวเป็นสีเหลือง มีทั้งพันธุ์ปีกยาวและปีกสั้น พันธุ์ปีกสั้นจะไม่มีตัวผู้ โดยขนาดลำตัวจะยาวแตกต่างกัน คือ ตัวเมียยาว 3 มิลลิเมตร ตัวผู้ยาว 2.5 มิลลิเมตร สามารถวางไข่ได้ครั้งละประมาณ 300-500 ฟอง ลักษณะของไข่จะโค้งงอ มีสีขาวขุ่น เปลือกที่หุ้มไข่จะมีจุดสีดำ มีอายุการฟักตัวประมาณ 2 สัปดาห์
- ลักษณะการทำลายพืชพันธุ์ จะดูดกินน้ำเลี้ยงสารอาหารจากข้าวต้นอ่อนตั้งแต่บริเวณโคนต้นข้าว ส่งผลให้ใบข้าวกลายเป็นสีเหลืองส้ม และทำให้ใบแห้งเหี่ยวและยืนต้นตาย หากมีการระบาดจะกระจายเป็นวงกว้าง กัดกินตั้งแต่ช่วงเป็นต้นกล้าไปจนถึงช่วงข้าวออกรวงได้เลยทีเดียว
วิธีกำจัดเพลี้ยกระโดดหลังขาว
กำจัดด้วยสารเคมี
- กำจัดตัวอ่อน ด้วยการใช้สารเคมีบูโพรเฟซิน (Buprofezin) 25% WP 10 กรัม ผสมกับน้ำอีก 20 ลิตร หรือสารไอโซโปรคาร์บ (Isoprocarb) สารอิทิโพรล(Ethiprole) สูตร 10%
- กำจัดตอนระยะข้าวตั้งท้องจนถึงช่วงออกรวง ให้ใช้สารอิทิโพรล (Ethiprole) สูตร 10% สารไดโนทีฟูเรน (Dinotefuran) สารไทอะมิโตแซม (Thiamethoxam) 25% อย่างใดอย่างหนึ่ง ผสมน้ำในปริมาณที่กำหนดฉีดพ่นให้ทั่ว
6. เพลี้ยไก่แจ้ มีชื่อวิทยาศาสตร์คือ Allocaridara Malayensis Crawford
- ลักษณะเฉพาะ จะอาศัยวางไข่ในเนื้อเยื่อของพืชผักชนิดต่าง ๆ บริเวณที่วางไข่จะเป็นวงสีเหลืองหรือสีน้ำตาล โดยวางครั้งละ 8-14 ฟอง ลำตัวของแมลงชนิดนี้มีลักษณะเป็นขนปุย ๆ สีขาวคล้าย ๆ หางไก่ ตัวอ่อนจะมีขนาดยาวประมาณ 3 มิลลิเมตร และลอกคราบ โตเต็มวัยจะมีขนาดลำตัวประมาณ 5 มิลลิเมตร มีอายุประมาณ 6 เดือน และจะชอบอาศัยอยู่ตามหลังของใบพืชผักชนิดต่าง ๆ
- ลักษณะการทำลายพืชพันธุ์ จะเข้าไปดูดสารอาหารต่าง ๆ จากใบอ่อนของพืชผัก ทำให้เกิดจุดสีเหลือง ใบไม่โต และมีขนาดเล็กเรียวลง หากมีจำนวนมากหรือมีการระบาด จะทำให้ใบหงิกและหลุดร่วง ยอดอ่อนแห้งเฉา และทำให้ต้นไม้ตายได้ง่าย ๆ ในตัวอ่อนจะขับสารสีขาวที่เป็นสาเหตุของเชื้อราออกมา และเมื่อเชื้อราตัวนี้ไปโดนบริเวณไหนของพืชผัก ก็จะทำให้พืชผักช้ำและตายได้เช่นกัน เป็นเพลี้ยที่พบมากในต้นทุเรียน โดยเฉพาะพันธุ์ชะนี ช่วงการระบาดจะอยู่ในเดือนมิถุนายนถึงพฤศจิกายน
วิธีกำจัดเพลี้ยไก่แจ้
กำจัดด้วยน้ำและสารเคมี
- เริ่มป้องกันตั้งแต่เริ่มต้นด้วยการใช้น้ำธรรมดาฉีดพ่นใบอ่อนในระยะเริ่มคลี่ใบ จะช่วยป้องกันไม่ให้แมลงชนิดนี้เกาะที่ใบได้
- ในระยะเริ่มแตกใบอ่อน ให้ฉีดพ่นป้องกันได้ ด้วยการใช้ อะวอร์ด 40 เอสซี ในปริมาณ 150 ซีซี และไอมิด้า 20 กรัม หรือแมมมอท 500 ซีซี หรือฟิพเปอร์ 300 ซีซี ผสมกับน้ำอีก 20 ลิตร
- กำจัดด้วยสมุนไพร
- นำเม็ดสะเดา 10 กิโลกรัม ตำให้ละเอียด สาบเสือ 10 กิโลกรัม บดสับให้ละเอียด และน้ำตาลทรายแดง 8 กิโลกรัม จุลินทรีย์ 8 กิโลกรัม นำไปหมักในถัง เติมน้ำเปล่าพอให้น้ำค่อนถัง หมักปล่อยทิ้งไว้ประมาณ 1 เดือน หากใช้ฉีดสำหรับป้องกันแมลง ให้ใช้อัตราส่วนน้ำหมัก 1 ลิตร ต่อน้ำ 200-500 ลิตร กรณีมีแมลงรบกวนมาก ๆ ใช้น้ำหมัก 1 ลิตร ผสมกับน้ำ 100-200 ลิตร โดยใช้ฉีดในช่วงเย็น ฉีดพ่นสัปดาห์ละไม่เกิน 2 ครั้ง
7. เพลี้ยจั๊กจั่นมะม่วง มีชื่อทางวิทยาศาสตร์คือ Idioscopus Clypealis (Lethieery) และ I.Niveosparsus (Lethierry) มีด้วยกัน 2 ชนิด
- ลักษณะเฉพาะ เพลี้ยชนิดนี้ส่วนใหญ่จะมีสีเทาปนดำ น้ำตาลปนเทา หัวโตป้าน ลำตัวเรียวเล็ก ลักษณะคล้ายรูปลิ่ม ความยาว 5.5-6.5 มิลลิเมตร ชอบอาศัยอยู่เป็นกลุ่ม ใช้ขาหลังช่วยดีดตัวเพื่อกระโดดไปยังที่อื่น ๆ ตัวอ่อนหรือโตเต็มวัยจะไม่มีความแตกต่างกันมาก อาศัยอยู่บริเวณช่อดอก ใบ และบริเวณโคนก้านของพืชผัก วางไข่เป็นฟองเดี่ยว สีเหลืองอ่อน ยาวรี มักจะวางไข่ตรงแกนกลางของใบอ่อนหรือที่ก้านของช่อดอก ใช้เวลาฟักไข่ประมาณ 7-10 วัน ตัวอ่อนจะลอกคราบ 4 ครั้ง ก่อนโตเต็มวัย
- ลักษณะการทำลายพืชพันธุ์ จะเข้าไปดูดน้ำเลี้ยงทำให้ใบอ่อน ยอดอ่อน ช่อดอก ก้านดอก เกิดความเสียหายมาก โดยเฉพาะตอนช่วงออกดอก และจะถ่ายมูลออกมาคล้ายน้ำหวานเหนียว ๆ ให้เกาะติดอยู่บริเวณรอบ ๆ ต้น ส่งผลให้เกิดเชื้อราดำที่ทำให้ใบหงิกงอโค้ง และปลายใบแห้ง จะระบาดช่วงมะม่วงออกดอกคือในเดือนธันวาคมถึงมกราคม โดยจะมีเยอะที่สุดในช่วงดอกใกล้บาน
วิธีกำจัดเพลี้ยจั๊กจั่นมะม่วง
กำจัดด้วยน้ำและสารเคมี
- ระยะที่ดอกมะม่วงกำลังบาน สามารถใช้น้ำเปล่าฉีดพ่นในช่วงเช้า โดยปรับหัวฉีดไม่ให้แรงเกินไป จะเป็นการช่วยล้างราดำ และช่วยกำจัดแมลงที่เกาะตามใบมะม่วงออกไปได้ด้วย
- ระยะมะม่วงเริ่มแทงช่อก่อนออกดอก ให้ใช้เชื้อราบิวเวอเรีย (Beauveria) หรือจุลินทรีย์ที่มีคุณสมบัติสามารถทำลายเพลี้ยได้ ผสมในอัตราส่วน 250 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นให้ทั่วทั้งต้น เพราะจะเป็นการกำจัดแมลงที่อาศัยอยู่ในส่วนอื่นได้ด้วย โดยให้ฉีดพ่นในตอนเย็นหรือช่วงที่อากาศไม่ร้อนจัด
- ระยะมะม่วงแทงช่อ ให้ใช้ Carbaryl หรือเซฟวิน 85% WP อัตราส่วน 60 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นในช่วงที่กำลังเริ่มแทงช่อ 1 ครั้ง และฉีดพ่นก่อนออกดอกอีก 1 ครั้ง และระยะดอกตูมหรือดอกบาน หากยังมีหลงเหลือให้เห็นควรพ่นซ้ำอีก 1-2 ครั้ง
- หากระบาดหนักจนควบคุมได้ยาก ให้เลือกใช้สารเคมีเฉพาะ เช่น อิมิดาคลอพริด (Imidacloprid) หรือไดโนทีฟูแรน (Dinotefuran) หรือใช้สาร Monocrotophos อโซดริน 60% WSC 25 มิลลิเมตร ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสาร Permethrin ไพรีทรอยด์สังเคราะห์ แอมบุช 10% EC 10 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นให้ทั่ว
4 วิธีดูแลป้องกันไม่ให้เกิดเพลี้ยในระยะยาวอย่างเห็นผล

- การหลีกเลี่ยง (Avoidance) หากเราทราบว่าในบริเวณพื้นที่ที่เราต้องการทำเกษตรกรรม เคยมีเพลี้ยชนิดที่เป็นอันตรายต่อพืชที่เราต้องการปลูกโดยตรง ก็ควรคิดหาวิธีปรับเปลี่ยน หรือวางแผนการปลูกพืชพันธุ์ใหม่ เช่น อาจใช้วิธีการปลูกพืชหมุนเวียนสลับไปก่อน หรือใช้พันธุ์ต้นไม้ พันธุ์ข้าว ที่ได้รับการรับรองว่าปราศจากศัตรูพืช (Certified Seed)
- กำจัดศัตรูพืช (Eradication) ทำได้โดยการเผาทำลายวัชพืชและพืชที่เป็นโรคต่าง ๆ ไถพรวน กลบหน้าดิน ทำลายแหล่งอาศัยของแมลงต่าง ๆ ในบริเวณที่เก็บพืชผลทางการเกษตรของเรา
- ป้องกัน (Protection) โดยทั่วไปที่เห็นผลได้เร็วก็คือ การใช้สารเคมีกำจัด แต่ควรใช้ในปริมาณหรืออัตรส่วนผสมตามที่กำหนดอย่างเคร่งครัด หรือกำจัดพาหะด้วยการใช้พันธุ์พืชที่ไม่มีศัตรูพืช
- การดูแลรักษา (Therapy) เป็นวิธีดูแลหลังจากเกิดการระบาด ที่ยังอยู่ในระยะที่ยังสามารถป้องกันได้ทัน ส่วนใหญ่แล้ววิธีนี้จะนิยมใช้กับพืชพันธุ์ที่เป็นไม้ผลยืนต้น ไม่เหมาะใช้กับพืชล้มลุก
ข้อควรระวังในการใช้ยาปราบศัตรูพืชและสารเคมีกำจัดเพลี้ย
ขึ้นชื่อว่าสารเคมี มักเป็นอันตรายในตัวเองอยู่แล้ว การใช้งานต้องมีความระมัดระวังเป็นอย่างมาก เพื่อที่จะไม่เป็นอันตรายต่อร่างกายของเราโดยตรง ทั้งทางผิวหนัง การหายใจ หรือพิษต่าง ๆ ที่อาจเกิดการสะสมได้ รวมทั้งเป็นการช่วยดูแลรักษาสภาพแวดล้อมในระยะยาวได้อีกด้วย เรามาดูกันว่ามีวิธีและข้อควรระวังอย่างไรบ้าง
การป้องกันอันตราย ระหว่างผสมสารเคมี และขณะใช้งาน
- อ่านคำแนะนำให้ละเอียดจนมั่นใจก่อนลงมือผสมสารเคมี และให้ใช้อัตราส่วนตามที่กำหนดอย่างเคร่งครัด
- สวมถุงมือยาง เสื้อแขนยาว หน้ากาก แว่นตา ฯลฯ ขณะทำการผสมสารเคมี และระวังไม่ให้เด็กหรือผู้ที่ไม่มีความรู้เข้าใกล้บริเวณ
- อย่าดื่มน้ำ สูบบุหรี่ ในขณะที่ผสมสารหรือพ่นยา และไม่ควรเป่าหรือดูดหัวฉีดหากมีอาการอุดตันด้วยปาก
- เมื่อเราต้องฉีดพ่นสารเคมี ให้ยืนอยู่เหนือลมทุกครั้ง เพื่อหลีกเลี่ยงการหายใจเอาสารเคมีเข้าไปในร่างกาย และหากมีลมแรงมากควรหยุดพ่นยา
การป้องกันอันตราย หลังการพ่นสารเคมี
- เมื่อฉีดพ่นยาเรียบร้อยแล้วให้เก็บอุปกรณ์ไว้ในที่มิดชิด ให้ห่างจากที่เก็บอาหารของคนและสัตว์เลี้ยง อย่าตั้งทิ้งไว้กลางแดด เพราะจะทำให้สารเคมีเสื่อมคุณภาพ และอาจจะเป็นอันตรายต่อเด็ก สัตว์เลี้ยงในบ้าน ได้อีกด้วย
- ถังที่ใส่สารเคมีที่ไม่ใช้แล้วต้องทำลายทิ้ง และไม่ควรนำมาใช้กับงานประเภทอื่น ๆ อีก ไม่ควรนำมาใส่น้ำหรืออาหาร หากเป็นโลหะหรือแก้ว ก่อนทิ้งให้ล้างให้สะอาดแล้วทุบจากนั้นนำไปฝังลึกมากกว่า 1 เมตร
- น้ำยาหรือสารเคมีที่ใช้ไม่หมด ให้เอาออกมาแยกเก็บไว้ เพราะหากทิ้งไว้จะทำให้กัดพลาสติกถังพ่น หรือสารเคมีอาจจะระเหยจนทำให้เสื่อมคุณภาพ และยังทำให้จับตัวจนเหนียว ล้างยาก ส่งผลทำให้หัวฉีดอุดตันได้อีกด้วย
- หลังการฉีดพ่นแล้ว ต้องคอยระวังไม่ให้คนที่ไม่เกี่ยวข้องเข้ามาบริเวณที่เราพ่นยาไว้ เพราะอาจจะเป็นอันตราย
- หลังฉีดพ่นยาเรียบร้อยแล้วให้อาบน้ำ ทำความสะอาดร่างกายทันที และนำเสื้อผ้าที่ใส่ไปแยกซักทำความสะอาดทันทีเช่นกัน
แนะนำยากำจัดศัตรูพืช ใช้งานได้อย่างเห็นผล
โปรวาโด

เป็นสารป้องกันศัตรูพืชและกำจัดแมลงชนิดดูดซึมได้ ทั้งทางรากและทางใบ กำจัดแมลงได้ทั้งถูกตัวตายและกินตาย มีชื่อสามัญว่า Imidacloprid จัดอยู่ในกลุ่มสารเคมี Neonicotinoid (4A) มีประสิทธิภาพสูงในการกำจัดแมลงปากดูดทุกชนิด เช่น เพลี้ยไฟ แมลงหวี่ขาว และหนอนชอนใบส้ม มีความปลอดภัยสูง ไม่เป็นอันตรายต่อพืชผักที่ปลูก มีผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมน้อยมาก
- อัตราส่วนใช้งาน 2 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร ใช้ฉีดพ่นเมื่อพบการแพร่ระบาด
เพลนั่ม

มีชื่อสามัญว่า ไพมีโทรซีน (Pymetrozine) อยู่ในกลุ่มสารเคมี Pyridine Azomethines (9B) มีประสิทธิภาพในการป้องกันและกำจัดเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลในนาข้าวได้อย่างดีเยี่ยม ด้วย 3 พลังล็อค ห้ามกิน ห้ามเกาะ และห้ามวางไข่ เพลนั่มทำให้แมลงหยุดดูดน้ำเลี้ยงจากต้นข้าวภายในเวลา 1-2 ชั่วโมง ช่วยป้องกันความเสียหายของผลผลิต และช่วยลดปัญหาการเกิดโรคจู๋จากเชื้อไวรัส
- อัตราส่วนใช้งาน 20 กรัม ต่อน้ำสะอาด 20 บิตร ฉีดพ่นให้ทั่ว สำหรับนาข้าว ใช้ 20 กรัม ต่อน้ำ 40 ลิตร
พอสซ์

สารกำจัดแมลงศัตรูพืชประเภทดูดซึม ออกฤทธิ์เป็นเวลานาน มีชื่อสามัญว่า คาร์โบซัลแฟน (Carbosulfan) 20% W/V EC อยู่ในกลุ่มสารเคมี Carbamate (1B) สามารถกำจัดหนอนกอสีครีม แมลงสิง แมลงหวี่ขาวอ้อย เต่าแตง และแมลงต่าง ๆ อย่างเห็นผล ค่อนข้างมีกลิ่นเหม็น สวมถุงมือและผ้าปิดจมูกทุกครั้งขณะใช้งาน
- อัตราส่วนใช้งาน 80 ซีซี ต่อน้ำสะอาด 20 ลิตร ฉีดพ่นเมื่อมีแมลงรบกวนหรือมีการระบาด หรือใช้งานตามอัตราส่วนเฉพาะพืชพันธุ์ต่าง ๆ
สตาร์เกิ้ล เอสแอล

เป็นสารป้องกันศัตรูพืชและกำจัดแมลงชนิดดูดซึม ในกลุ่มสารเคมีนีโอนิโคตินอยด์ น้ำสีฟ้าใส ละลายง่าย เข้าสู่ต้นพืชได้ทั้งทางใบและทางราก ไม่เกิดตะกอน หรือคราบตกค้างบนผลผลิต มีชื่อสามัญว่า Dinotefuran 10% SL มีประสิทธิภาพป้องกันกำจัดแมลงปากดูด แมลงหวี่ขาวยาสูบ และแมลงชนิดอื่นได้เป็นอย่างดี มีประสิทธิภาพแม้จะมีฝนตกหลังการฉีดพ่น ควบคุมแมลงได้นานแม้ฉีดพ่นเพียงครั้งเดียว
- อัตราส่วนใช้งาน 10 มิลลิลิตร ต่อน้ำสะอาด 20 ลิตร หรืออัตราการใช้น้ำ 100 ลิตร ต่อ 1 ไร่ ฉีดพ่นได้ทั่วไปเมื่อพบการระบาดของแมลง หรือตามอัตราส่วนต่อชนิดของพืขพันธุ์ในการใช้งาน
โบเก้

เป็นสารป้องกันศัตรูพืชและกำจัดแมลงชนิดกึ่งดูดซึม มีชื่อสามัญว่า อะบาเม็กติน 1.8% W/V EC อยู่ในกลุ่มสารเคมี Avermectin สามารถกำจัดแมลงต่าง ๆ อย่างเห็นผล เช่น เพลี้ยไฟ หนอนใย หนอนกอข้าว หนอนชอนใบส้ม-มะนาว มีประสิทธิภาพควบคุมแมลงได้อย่างยาวนาน
- อัตราส่วนใช้งาน 5-10 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร ใช้ฉีดพ่นกำจัดแมลงทั่วไป หรือ 30 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นเมื่อพบการระบาดของแมลง
เพลี้ยแมลงตัวจิ๋วที่มีฤทธิ์ร้ายกาจในการทำลายพืชพันธุ์ต่าง ๆ เป็นศัตรูอันอันดับต้น ๆ ของเกษตรกรคนทำไร่ทำนา หากปล่อยไว้ไม่หาทางป้องกันหรือกำจัดอย่างถูกวิธี เมื่อเวลาที่เกิดการระบาดขึ้นมาจริง ๆ อาจจะต้องนอนก่ายหน้าผากกันเลยทีเดียว การกำจัดแมลงศัตรูพืชทั้งหลายนั้น มีทั้งวิธีทางธรรมชาติ ใช้สมุนไพร และการใช้สารเคมี ซึ่งอาจเกิดอันตรายและมีสารตกค้างได้ ไม่ว่าจะใช้วิธีไหนก็ควรศึกษาทำความเข้าใจ เพื่อจะได้ไม่เป็นอันตรายต่อตัวเราเอง และไม่เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ใครที่กำลังพบเจอปัญหาจากเจ้าแมลงตัวนี้ หวังว่าสูตรเด็ด วิธีกำจัดเพลี้ย ศัตรูตัวร้ายของเกษตรกรอย่างได้ผลทันใจ ง่าย ๆ ไม่ยุ่งยาก ทำได้ด้วยตัวเองกันเลยดีกว่า คงจะเป็นตัวช่วยแก้ปัญหาได้เป็นอย่างดี