หากกล่าวถึงถนนวิภาวดีรังสิตแล้ว เพื่อน ๆ หลายคนคงนึกถึงถนนใหญ่ที่มีช่องสำหรับเดินรถมากมายรวมถึงทางด่วนที่สร้างขนานไปกับตัวถนนด้านล่างที่ใช้สำหรับสัญจรผ่านไปย่านต่าง ๆ ในกรุงเทพมหานคร หากมองเผิน ๆ แล้วเพื่อน ๆ คงรู้สึกว่าถนนเส้นนี้เป็นแค่ถนนใหญ่ที่ส่วนใหญ่เป็นอาคารสำนักงานหรือร้านค้าขนาบข้างเสียเยอะ ไม่ใช่ย่านชุมชนอยู่อาศัย หรือแหล่งรวมไลฟ์สไตล์สำหรับกิน ดื่ม เที่ยว แต่จริง ๆ แล้วถนนสายสำคัญสายนี้เป็นมากกว่านั้น ดังนั้นในวันนี้เราจะพาเพื่อน ๆ มาทำความรู้จักกับย่านถนนเส้นนี้ ให้ได้รู้กันว่าความจริงแล้วถนนวิภาวดีรังสิตเป็นแค่ทางผ่านจริงหรือเปล่า?
. . . . . . . . . .
ความเป็นมาของถนนวิภาวดีรังสิต
เดิมทีถนนเส้นนี้ถูกเรียกว่าถนนซูเปอร์ไฮเวย์ เนื่องจากถนนสายนี้ถูกสร้างเป็นถนนทางหลวงพิเศษคือ มีการแบ่งช่องทางเดินรถเป็นทางด่วนหรือทางหลัก (Main Road) และทางคู่ขนาน (frontage road) ยาวตลอดแนวถนนที่มีจุดเริ่มต้นตั้งแต่บริเวณสามแยกดินแดง (จุดบรรจบถนนดินแดงและเชื่อมต่อทางพิเศษเฉลิมมหานคร) ไปจนถึงทางแยกต่างระดับอนุสรณ์สถาน ในพื้นที่ตำบลคูคต อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี เป็นระยะทางทั้งสิ้น 23.51 กิโลเมตร โดยจะมีช่วงหนึ่งของถนนวิภาวดีที่ไม่มีการแบ่งช่องทางเดินรถเป็นทางหลักและทางคู่ขนาน นั่นคือช่วงหน้าท่าอากาศยานดอนเมือง ด้วยมีพื้นที่จำกัดจากการถูกขนาบสองข้างถนนด้วยสนามบินและทางรถไฟสายเหนือ จึงมักเป็นสาเหตุให้การจราจรบริเวณนี้ติดขัดเป็นประจำ ภายหลังจึงมีการเปิดประมูลสัมปทานเพื่อสร้างทางด่วนขึ้นเป็นเส้นทางเลี่ยงรถติดจากถนนวิภาวดีรังสิต และทางยกระดับอุตราภิมุข หรือดอนเมืองโทลเวย์ (Toll Way) ก็เป็นทางหลวงสัมปทานสายแรกของไทย มีความยาวแรกเริ่มจากช่วงแยกดินแดงไปจนถึงหน้าโรงกษาปณ์ เขตอำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี ส่วนในปัจจุบันได้มีการต่อเติมและเชื่อมต่อทางยกระดับ หรือทางด่วนเข้าด้วยกันเพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางของผู้คนในกรุงเทพมหานครอย่างทั่วถึง

ถนนวิภาวดีรังสิต
ซึ่งก่อนหน้าที่จะมีตึกรามบ้านช่องเรียงรายสองข้างทางแน่นขนัดขนาดนี้ ถนนวิภาวดีรังสิต สมัยก่อนนั้นเป็นเพียงถนนลาดยางเส้นใหญ่ที่ตัดผ่านทุ่งนาและบ้านเรือนร้านค้าเป็นหย่อม ๆ ถนนสายอื่นที่ถูกตัดผ่านก็ยังไม่ใช่ถนนลาดยางด้วยซ้ำ แต่เมื่อการจราจรเริ่มคับคั่งมากขึ้นจึงมีการขยายถนนวิภาวดีรังสิตเพื่อรองรับการเดินทางของประชาชน พร้อมกับเริ่มพัฒนาถนนสายอื่น ๆ ด้วยนั่นเอง
. . . . . . . . . .
ถนนวิภาวดีรังสิตสู่การตัดผ่านถนนเส้นอื่น
ปัจจุบันถนนวิภาวดีรังสิตมีฐานะเป็นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 31 สายดินแดง – ดอนเมือง ที่แม้จะเป็นถนนทางหลวงพิเศษแต่ก็ยังต้องตัดผ่านถนนเส้นอื่น ๆ ทำให้ถนนวิภาวดีรังสิตมีเส้นทางมุ่งสู่ย่านต่าง ๆ ในกรุงเทพมหานครอยู่มากมาย ซึ่งหลัก ๆ แล้วนั้นมีจุดตัดอยู่ 7 จุด

จุดตัดบริเวณทางไปดินแดง, พระราม 9
เริ่มจากจุดแรกอย่างแยกดินแดง ที่เป็นการตัดถนนผ่านถนนดินแดง กลายเป็นการแบ่งฝั่งหนึ่งเป็นถนนดินแดงมุ่งสู่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และอีกฝั่งหนึ่งมุ่งสู่ประชาสงเคราะห์, พระราม 9 จุดถัดไปคือตัดกับถนนสุทธิสารวินิจฉัยแบ่งเป็นถนนสู่สะพานควาย และถนนสู่แยกรัชดา - สุทธิสาร ต่อมาถึงห้าแยกลาดพร้าวที่มีเส้นเปลี่ยนไปถนนลาดพร้าว ไปแยกรัชดา-ลาดพร้าว, บางกะปิ แล้วตัดกับถนนพหลโยธินให้แบ่งเป็นฝั่งสวนจตุจักร, สะพานควาย กับฝั่งไปแยกรัชโยธิน จากนั้นถนนเส้นนี้ก็จะตัดผ่านทางแยกต่างระดับรัชวิภา ซึ่งเป็นจุดร่วมของถนนรัชดาภิเษกและถนนกำแพงเพชร 2 โดยถนนรัชดาภิเษกถูกแบ่งเป็นเส้นทางมุ่งสู่วงศ์สว่าง, สะพานพระราม 7 และเส้นทางสู่แยกรัชโยธิน ในขณะที่ถนนกำแพงเพชร 2 เป็นเส้นทางไปหมอชิตใหม่
จุดต่อมาคือแยกบางเขนที่เป็นจุดตัดระหว่างถนนเส้นนี้และถนนงามวงศ์วานแบ่งให้ฝั่งหนึ่งเป็นเส้นทางไปพงษ์เพชร, แคราย กับฝั่งไปมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จากนั้นจึงเป็นจุดตัดถนนเส้นนี้กับถนนแจ้งวัฒนะที่แยกหลักสี่ ฝั่งหนึ่งมุ่งหน้าสู่ปากเกร็ด และอีกฝั่งเป็นเส้นทางไปอนุสาวรีย์หลักสี่, รามอินทรา ก่อนถนนวิภาวดีรังสิตจะไปจบสุดท้ายที่จุดตัดทางแยกต่างระดับอนุสรณ์สถาน ที่ตัดกับถนนพหลโยธินมุ่งสู่สะพานใหม่

จุดตัดที่สามารถไปสุทธิสาร หรือไปสะพานควายได้ฝั่งถนนพหลโยธินได้
จะเห็นได้ว่ามีถนนหลายสายที่ถูกถนนเส้นนี้ตัดผ่านให้เชื่อมต่อเข้าด้วยกัน ช่วยให้การเดินทางข้ามฝั่งหรือย่านเป็นไปอย่างสะดวกมากขึ้น ดั่งที่กล่าวไว้ว่าสองข้างทางของถนนวิภาวดีรังสิต สมัยก่อนนั้นมีแต่ทุ่งหญ้า ต้นไม้ และบ้านเรือนกระจุกเป็นหย่อม ๆ แต่เมื่อการคมนาคมสะดวกมากขึ้นชุมชนอาศัยก็จะตามมาในที่สุด ส่งผลให้ปัจจุบันสองข้างทางของถนนเส้นนี้ อุดมไปด้วยตึกรามสำนักงานเสียเป็นส่วนมาก และผลจากการเป็นถนนสายหลักที่เชื่อมต่อถนนสายต่าง ๆ เข้าด้วยกัน รวมถึงมีอาคารสำนักงาน และสถานที่สำคัญมากมายตั้งเรียงอยู่ ทั้งหมดทั้งมวลนี้จึงเป็นผลให้ในช่วงเวลาเร่งด่วน (Rush hour) นั้นถนนเส้นนี้รถติดสาหัสอยู่เหมือนกัน

จุดตัดบริเวณห้าแยกลาดพร้าว ที่เดินทางไปได้หลายทิศทาง

จุดตัดบริเวณแยกรัชวิภา ซึ่งเป็นถนนรัชดาภิเษกที่ตัดผ่าน

จุดตัดบริเวณแยกบางเขน ไปสามารถไปเกษตร นวมินทร์ หรือไปเส้นงามวงศ์วานได้

จุดตัดบริเวณแยกหลักสี่ สามารถไปแยกวัฒนะ หรือรามอินทรา โดยมีห้าง IT Square หลักสี่บริเวณนี้
. . . . . . . . . .
ถนนวิภาวดีรังสิตเพื่อการเดินทาง
แต่ไหนแต่ไรมาถนนวิภาวดีรังสิตก็ถูกสร้างขึ้นด้วยจุดประสงค์เพื่อการเดินทางที่สะดวกสบายของประชาชนเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว โดยสมัยก่อนนั้นเป็นถนนซูเปอร์ไฮเวย์ขนาด 4 เลนที่มีทั้งรถยนต์ส่วนบุคคล รถประจำทาง รถบรรทุก รวมทั้งรถจักรยานยนต์วิ่งกันให้ขวักไขว่ อีกทั้งยังมีรางรถไฟสายเหนือขนาบไปด้วย เรียกว่าเป็นช่วงถนนที่สร้างขึ้นเพื่อการคมนาคมโดยแท้ และในช่วงปี พ.ศ. 2533 ทางรัฐบาลก็ได้มีการเปิดประมูลสัมปทานโครงการก่อสร้างทางยกระดับและรางรถไฟฟ้าขึ้นเพื่อแก้ปัญหารถติด ซึ่งผู้ชนะในการประมูลนี้ก็คือบริษัทโฮปเวลล์โฮลดิงส์ แต่เนื่องจากปัญหาติดพันหลายอย่างทั้งเรื่องสัมปทานและเงื่อนไขสัญญาทำให้โครงการที่เราเรียกกันว่าโฮปเวลล์นี้ไม่สามารถก่อสร้างได้สำเร็จ และเป็นอันต้องล้มโครงการไป ไม่อย่างนั้นประเทศไทยคงมีรถไฟฟ้าใช้เสียนานแล้ว

โครงการก่อสร้าง Hopewell ขอบคุณภาพจาก ข่าวสด
ต่อมาการรถไฟแห่งประเทศไทยได้พยายามที่จะใช้ส่วนที่ก่อสร้างจากโครงการโฮปเวลล์ในการพัฒนาเป็นทางวิ่งของรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงเข้ม ทว่าก็ได้มีเหตุการณ์โครงสร้างบางส่วนของโฮปเวลล์ถล่มลงมาถึง 2 ครั้ง ทำให้ผลการพิจารณาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA) ไม่ผ่านการตรวจสอบ ดังนั้นการรถไฟแห่งประเทศไทยจึงตัดสินใจว่าจ้างให้ผู้รับเหมาโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงเข้ม ทำการรื้อถอนโครงสร้างเดิมทั้งหมดของโฮปเวลล์แล้วย้ายแนวรางไปคร่อมอยู่เหนือแนวถนนกำแพงเพชร 6 แทน และในปัจจุบันโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงเข้มอันเป็นรถไฟฟ้าสายชานเมืองก็ใกล้เปิดให้บริการเต็มที ซึ่งเมื่อรถไฟฟ้าสายนี้เปิดให้บริการแล้วก็คาดว่าจะช่วยบรรเทาการจราจรให้ถนนวิภาวดีรังสิตรถติดน้อยลง
นอกจากนั้นแล้ว ยังมีรถประจำทางวิ่งอยู่หลายสาย มีตั้งแต่รถประจำทางที่วิ่งยาวตลอดเส้นถนนเส้นนี้จนถึงรถประจำทางที่วิ่งข้ามฝั่งข้ามฟากไปในย่านต่าง ๆ ด้วย อีกทั้งยังสามารถหารถแท็กซี่ได้ง่ายตลอดทั้งสาย ทำให้การเดินทางในย่านนี้เป็นไปอย่างสะดวกแม้ไม่มีพาหนะส่วนตัว ด้วยสามารถโดยสารได้ทั้งรถประจำทาง รถแท็กซี่ และรถไฟฟ้าในอนาคตอันใกล้นี้
. . . . . . . . . .
ถนนวิภาวดีรังสิต แหล่งรวมสถานที่สำคัญตลอดแนว
อย่างที่บอกเลยว่าสองข้างทางของถนนวิภาวดีรังสิตนั้นเต็มไปด้วยตึกอาคารสำนักงาน ร้านค้า และสถานที่สำคัญทั้งหลาย เราจึงจะยกตัวอย่างสถานที่ต่าง ๆ มาให้เพื่อน ๆ ดูกัน
สถานที่ราชการ
- กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์
- สนามกีฬากองทัพบก
- สโมสรกองทัพบก
- สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย
- สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย
- ฐานทัพอากาศดอนเมือง
- อนุสรณ์สถานแห่งชาติ
- สโมสรตำรวจ
- สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
โรงพยาบาล
- โรงพยาบาลทหารผ่านศึก
- โรงพยาบาลวิภาวดี
- สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์

โรงพยาบาลวิภาวดี
โรงเรียนและสถาบันการศึกษา
- วิทยาลัยการจัดการเพื่อการพัฒนา มหาวิทยาลัยทักษิณ
- โรงเรียนสุรศักดิ์มนตรี
- มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตจักรพงษภูวนารถ
- วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร
- มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
- โรงเรียนรักษาดินแดน ศูนย์การกำลังสำรอง
- มหาวิทยาลัยเซนต์จอห์น
- โรงเรียนหอวัง
- มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
- โรงเรียนมัธยมสังคีตวิทยา กรุงเทพมหานคร

หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ
- บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)
- สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน
- อาคารเอนเนอร์ยี่ คอมเพล็กซ์
- องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย
- สถานีรถไฟบางเขน
- สถานีรถไฟหลักสี่
- สถานีรถไฟดอนเมือง
- ท่าอากาศยานดอนเมือง
- บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)
หน่วยงานเอกชน
- บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) (อาคารอีสท์วอเตอร์)
- อาคารหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ
- อาคารซันทาวเวอร์ส
- อาคารชินวัตรทาวเวอร์ 3
- นอร์ธ ปาร์ค
- อาคารหนังสือพิมพ์เดลินิวส์
- โรงแรม รามา การ์เดนส์
- โรงแรม มิราเคิล แกรนด์
- โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ แอท เซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว
- บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)
- ศูนย์ลูกเรือ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)

กลุ่มอาคารสำนักงาน และคอนโดบริเวณสวนจตุจักร
ดูจากรายชื่อสถานที่ต่าง ๆ แล้วเพื่อน ๆ คงเห็นแล้วว่าทำเลติดถนนใหญ่อย่างถนนเส้นนี้นั้นดึงดูดนักลงทุนมากแค่ไหน จากถนนเส้นนี้สมัยก่อนที่มีเพียงทุ่งหญ้า คลอง และกลุ่มอาคารประปรายค่อย ๆ ถูกจับจองโดยนักลงทุนหลายเจ้า ตั้งเป็นตึกอาคารสำนักงาน โรงพิมพ์ จนแน่นขนัดทั้งสองข้างทาง แม้กระทั่งสถานศึกษาเองก็ยังเลือกทำเลให้ง่ายต่อการเดินทางเข้าถึงจากถนนเส้นนี้เส้นทางต่าง ๆ ด้วยเช่นกัน แล้วอย่างนี้จะไม่ให้พื้นที่โดยรอบถนนวิภาวดีรังสิตเป็นที่จับตามองของนักลงทุนหลายรายได้อย่างไร
ปัจจุบันแม้ว่าพื้นที่เกือบทั้งหมดบริเวณริมถนนเส้นนี้จะถูกจับจองด้วยตึกใหญ่ อาคารสำนักงาน โชว์รูมรถยนต์ สถานศึกษา หรือแม้กระทั่งหน่วยงานราชการต่าง ๆ ทว่าก็ยังมีส่วนที่เป็นพื้นที่ส่วนบุคคลอยู่เช่นกัน เรายังสามารถมองเห็นอาคารพานิชย์หลายตึกเรียงรายอยู่ ซึ่งเจ้าของอาคารเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่อยู่อาศัยในบริเวณนี้มาแต่เดิม ต่างจากอาคารสำนักงานทั้งหลายที่รวมคนจากพื้นที่ต่าง ๆ มาไว้ด้วยกัน กิจการร้านค้าเล็ก ๆ ส่วนมากก็มักเป็นกิจการที่เปิดมานานจากผู้คนที่เป็นเจ้าถิ่นเก่า มีบ้างที่อาจต้องผลัดเปลี่ยนมือกันไปตามเหตุผลต่าง ๆ และในอนาคตที่การคมนาคมสาธารณะบริเวณถนนวิภาวดีรังสิตดีขึ้น ย่านนี้ก็จะยิ่งเป็นที่จับตามองมากขึ้น ยังคงมีความเป็นไปได้ที่ที่ดินหลายแห่งจะถูกผลัดเปลี่ยนสู่มือเจ้าของใหม่ต่อไป
. . . . . . . . . .
แหล่งรวมไลฟ์สไตล์ใกล้ถนนวิภาวดีรังสิต
เมื่อมีชุมชนย่อมมีผู้คนอยู่อาศัย หรือต่อให้ไม่ใช่ผู้ที่อาศัยอยู่ย่านถนนเส้นนี้ก็ใช่ว่าจะไม่ต้องการแหล่งรวมไลฟ์สไตล์ไว้สำหรับการใช้ชีวิต ประกอบกับเหตุผลที่ว่าริมถนนเป็นทำเลทองที่ง่ายต่อการเดินทางเข้าถึงแล้วก็ยิ่งเป็นเหตุผลให้นักลงทุนธุรกิจด้านนี้แย่งกันจับจองพื้นที่เพื่อเปิดห้างสรรพสินค้าและคอมมูนิตี้มอลล์เป็นการใหญ่ และไหน ๆ ก็ชื่อถนนวิภาวดีรังสิตแล้ว เราจะขอเริ่มพูดถึงแหล่งไลฟ์สไตล์ตั้งแต่ย่านรังสิตขึ้นมาเลยแล้วกัน
สถานที่แรกที่หากพูดถึงรังสิตแล้วเพื่อน ๆ หลายคนต้องนึกถึงชื่อนี้เป็นอันดับแรกแน่นนอน นั่นคือ FuturePark Rangsit นั่นเอง แหล่งรวมไลฟ์สไตล์ขนาดใหญ่ใกล้กับจุดสิ้นสุดถนนเส้นนี้ที่รวมทุกอย่างไว้ไม่ว่าจะเป็นศูนย์ช็อปปิ้ง ศูนย์รวมร้านอาหาร ภัตตาคารชื่อดัง โรงภาพยนตร์ สถาบันกวดวิชา ไปจนถึงศูนย์ตัวแทนจำหน่ายเฟอร์นิเจอร์ตกแต่งบ้าน เรียกว่ามาที่เดียวก็ได้ทุกอย่างครบสมใจ แต่ถ้าเพื่อน ๆ เป็นสายซื้อของใช้ ของสดแล้วละก็ เยื้องออกไปตรงกันข้ามก็มีเทสโก้โลตัส รังสิต ให้ไปเดินจับจ่ายกันได้ หรือหากใครไม่ใช่สายเดินห้างสรรพสินค้าแล้วละก็ ฝั่งตรงกันข้ามกับ ฟิวเจอร์ปาร์ค รังสิต ยังมีตลาดรังสิต ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ที่รวมทุกอย่างไว้ไม่ว่าจะเป็นโซนอาหารและของสด โซนขายเสื้อผ้า เครื่องประดับ ข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ ร้านขายของมือสอง และอีกมากมาย ให้เพื่อน ๆ ได้เดินกันเพลินจนลืมเวลาเลยทีเดียว
ถัดเข้ามาอีกตรงบริเวณใกล้กับทางเข้าเมือกเอก ที่มุ่งสู่มหาวิทยาลัยรังสิตก็เป็นห้างสรรพสินค้าขายส่งอย่างแม็คโคร รังสิต ที่เพื่อน ๆ สามารถมาจับจ่ายของใช้ในบ้านในราคาส่งได้ และเมื่อวิ่งตรงเข้ามาตามถนนเส้นนี้ถึงช่วงก่อนทางต่างระดับอนุสรณ์สถานก็เป็นแหล่งรวมศูนย์การค้าด้วยเช่นกัน โดยฝั่งติดถนนวิภาวดีรังสิต เส้นทางต่อถนนพหลโยธินมุ่งสู่สะพานใหม่นั้นมี เซียร์ รังสิต ตั้งอยู่ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในฐานะศูนย์รวมร้านค้าขายอุปกรณ์ไอทีทั้งหลาย ซึ่งปัจจุบันออกจะซบเซาไปบ้างเมื่อเทียบกับสมัยก่อน ทว่าก็ยังมีร้านค้าเปิดกิจการอยู่ให้เพื่อน ๆ ไปเดินดูสินค้าหรือขอคำปรึกษาจากตัวแทนจำหน่ายได้ นอกจากนี้บริเวณหน้า เซียร์ รังสิตก็ยังมีตลาดนัดขนาดใหญ่ตั้งแต่ช่วงบ่ายเป็นต้นไปให้ได้เดินซื้อของกิน ของใช้ได้ด้วย

ห้างสรรพสินค้า Future Park รังสิต
ส่วนฝั่งตรงกันข้ามกับ เซียร์ รังสิตนั้นมีศูนย์การค้าตั้งเรียงกันอยู่ 3 รายคือ โบ๊เบ๊ทาวเวอร์ เดิมทีเป็นเมอร์รี่คิงส์ ห้างสรรพสินค้าเก่าแก่ของย่านลำลูกกา ทว่าต่อมาก็ได้เปลี่ยนมือเจ้าของกลายมาเป็นโบ๊เบ๊ทาวเวอร์ ศูนย์การค้าแหล่งรวมแฟชั่นแห่งใหม่ ภายในประกอบด้วยร้านขายเสื้อผ้ามากมายในราคาย่อมเยาว์ มีทั้งแบบค้าปลีกและค้าส่งเหมือนกับที่ตึกโบ๊เบ๊ย่านมหานาคไม่มีผิด ถัดมาข้างกันเป็น บิ๊กซี ซูเปอร์ เซ็นเตอร์ รังสิต 2 ศูนย์การค้าขายปลีก - ส่งของใช้ในบ้านและของสดที่เราคุ้นเคยกันดี แต่เพื่อน ๆ หลายคนอาจนิยมช็อปปิ้งเพียงแค่สิ่งของอุปโภคก็ได้ เพราะข้างกันไม่ไกลจากตัวห้างสรรพสินค้ามีตลาดสี่มุมเมืองตั้งอยู่ ซึ่งตัวตลาดสี่มุมเมืองนี้เองมีทั้งของสดสำหรับบริโภค และของใช้สำหรับอุปโภคหลากหลายอย่างรวมกันอยู่ด้วย เรียกว่าสำหรับชุมชนคนย่านคูคตนี้แทบไม่ต้องเดินทางไปไหนไกลด็ได้ครบทุกสิ่งที่จำเป็นต้องใช้แล้ว
. . . . . . . . . .
แวะช็อปปิ้งช่วงถนนวิภาวดีรังสิตรถติดแถวดอนเมือง
ก่อนจะวิ่งเข้าสู่ย่านใจกลางเมืองด้วยถนนวิภาวดีรังสิต บริเวณถัดจากสนามบินดอนเมืองก็ยังมีศูนย์การค้านำเข้าชื่อดังที่หลายคนรู้จักกันดีอย่าง เจ๊เล้ง แหล่งรวมสินค้าอุปโภคบริโภคที่นำเข้าจากต่างประเทศเป็นส่วนมาก มีทั้งส่วนที่เป็นขนม วัตถุดิบประกอบอาหารประเภทต่าง ๆ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ของใช้ประจำวันไปจนถึงเครื่องสำอางค์ และน้ำหอมหลากหลายแบรนด์ชั้นนำที่มีให้เลือกสรรกันอย่างละลานตา ระหว่างเดินดูสินค้าก็ยังมีเสียงแนะนำผลิตภัณฑ์สินค้าต่าง ๆ จากเจ๊เล้ง เจ้าของศูนย์การค้าให้ได้ฟังกันเพลิน ๆ อีกด้วย นอกจากนี้บริเวณด้านล่างอาคารของเจ๊เล้งก็ยังมีร้านขายอาหาร เครื่องดื่ม ร้านเสริมสวยไว้คอยให้บริการอีกด้วย
. . . . . . . . . .
ห้าแยกใหญ่ในถนนวิภาวดีรังสิต
และสำหรับแหล่งรวมไลฟ์สไตล์สุดท้ายของย่านถนนวิภาวดีรังสิตนั้นจะเป็นที่อื่นไปไม่ได้เลยนอกจากศูนย์การค้าใหญ่ที่ตั้งอยู่บริเวณห้าแยกลาดพร้าวนั่นเอง มีที่เที่ยวลาดพร้าวมากมาย โดยฝั่งถนนพหลโยธินมุ่งสู่แยกรัชโยธินนั้นมีห้างสรรพสินค้าสองแห่งตั้งขนาบอยู่ นั่นก็คือศูนย์การค้า Central ลาดพร้าว และ Union Mall นั่นเอง แน่นอนว่าแทบทุกคนรู้กันดีอยู่แล้วว่าในห้างสรรพสินค้าเครือเซ็นทรัลนั้นรวบรวมทั้งร้านแบรนด์เสื้อผ้า เครื่องแต่งกายชื่อดัง คลินิกเสริมความงาม ซุปเปอร์มาร์เก็ต ไปจนถึงร้านอาหารมีชื่อทั้งหลายเอาไว้ในที่เดียว อีกทั้งทางห้างสรรพสินค้ายังมีการจัดงานแสดงสินค้าลดราคา หรืออีเว้นท์ (Events) ต่าง ๆ อยู่เป็นประจำ จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่ศูนย์การค้าแห่งนี้จะมีผู้ใช้บริการหนาตาอยู่ตลอด ส่วน Union Mall ที่อยู่ฝั่งตรงกันข้ามนั้นก็เป็นที่รู้จักกันดีในนามแหล่งรวมแฟชั่นราคาย่อมเยาว์ มีร้านค้าเสื้อผ้ามากมายให้เพื่อน ๆ ได้ไปอัพเดทเทรนด์กันได้ตลอดในราคาที่แทบทุกคนเอื้อมถึง

ภายในศูนย์การค้า Central ลาดพร้าว (ที่มาภาพ : Origin Property)
หรือถ้าหากเบื่อที่จะเดินห้างสรรพสินค้าแล้วเพื่อน ๆ ก็สามารถเลือกไปเส้นทางมุ่งสู่สวนจตุจักรที่อยู่อีกฝั่งหนึ่งได้ โดยย่านจตุจักรนี้เป็นแหล่งรวมร้านค้าขนาดใหญ่ มีแผงค้ากว่า 8,000 แผง ซึ่งเป็นแผงค้าขายสินค้าทั้งผักและผลไม้ เสื้อผ้า สัตว์เลี้ยง ต้นไม้ อาหารปรุง อาหารสำเร็จรูป อาหารสด และเบ็ดเตล็ด แบ่งเป็นโซนตามแต่ละโครงการที่มีทั้งหมด 27 โครงการ ให้เพื่อน ๆ ได้เลือกเดินตามความชอบ นอกจากนี้ถัดเข้าไปทางถนนกำแพงเพชรยังมีตลาด อ.ต.ก. (องค์การตลาดเพื่อการเกษตร) ที่เป็นแหล่งขายของสดคุณภาพดีจากเกษตรกรให้ได้จับจ่ายของสดกลับไปใส่ตู้เย็นไว้ด้วย
. . . . . . . . . .
อสังหาฯ และการลงทุนย่านถนนวิภาวดีรังสิต
ดั่งที่เราได้เกริ่นไว้ว่าเมื่อการคมนาคมถูกพัฒนาให้ทั่วถึงมากขึ้นความเจริญย่อมตามมา จากถนนวิภาวดีรังสิต สมัยก่อนที่เป็นย่านอยู่อาศัยเสียมากก็เริ่มเปลี่ยนแปลงหน้าตาเป็นตึกอาคารสำนักงานรูปแบบต่าง ๆ มากขึ้นนับตั้งแต่มีโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวเข้มเกิดขึ้น จนเมื่อมีการพัฒนาโครงการรถฟ้าสีเขียว สายหมอชิต - สะพานใหม่ - คูคต และโครงการรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงเกิดขึ้น ย่านถนนถนนเส้นนี้ก็ยิ่งถูกจับตามองจากนักลงทุนและผู้ประกอบการธุรกิจจำพวกอาคารสำนักงาน และอาคารชุดอย่างคอนโดมิเนียม เนื่องจากราคาประเมินที่ดินของกรมธนารักษ์รอบปี 2559 - 2562 ย่านถนนวิภาวดีรังสิตที่อยู่ในพื้นที่เขตห้วยขวาง พญาไท ดินแดง มีราคาอยู่ที่ 2.2 แสนบาท / ตารางวา ส่วนเขตจตุจักรราคาอยู่ที่ 1.5-2.6 แสนบาท/ตารางวา และในเขตดอนเมือง ราคาอยู่ที่ 1.2 แสนบาท/ตารางวา ประกอบกับผลการสำรวจของเจแอลแอล (JLL) พบว่าทำเลย่านนี้มีสำนักงานให้เช่าอยู่ประมาณ 24 อาคาร รวมพื้นที่ 580,000 ตารางเมตร มีอัตราการเช่ากว่า 90% มีค่าเช่าเฉลี่ยอยู่ที่ 750 บาท/ตารางเมตร/เดือน ซึ่งตลาดยังมีความต้องการเช่าพื้นที่สำนักงานอยู่มาก ขณะที่คู่แข่งในตลาดมีอยู่น้อย ดังนั้นอัตราการเติบโตของราคาเช่าสำนักงานออฟฟิศยังมีแนวโน้มเติบโตขึ้นได้อีกในอนาคต ด้วยโครงข่ายการคมนาคมที่กำลังจะทำให้ย่านถนนวิภาวดีรังสิตยกระดับเป็น New CBD กรุงเทพ (Central Business District) แห่งใหม่ของกรุงเทพมหานครนั่นเอง
ทั้งนี้การพัฒนาโครงการอสังหาฯ ที่เริ่มมีมากขึ้นในช่วงปีหลังมานี้ก็สามารถเป็นตัวชี้วัดแนวโน้มการเติบโตของธุรกิจด้านนี้ได้เป็นอย่างดี ยกตัวอย่างเช่น บริษัท แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) (LPN) ที่ชิงลงมือก่อนด้วยการเริ่มโครงการลุมพินี ทาวเวอร์ วิภาวดี - จตุจักร อาคารสำนักงานจำนวน 18 ชั้น 1 อาคาร ตั้งอยู่ในซอยวิภาวดีรังสิต 3 บนถนนเส้นทางใกล้ห้าแยกลาดพร้าว เยื้องกับสำนักงานใหญ่การบินไทยนั่นเอง
. . . . . . . . . .
คอนโดริมถนนวิภาวดีรังสิต
Lumpini Park Vibhavadi-Chatuchak
นอกจากโครงการอาคารสำนักงานอย่าง ลุมพินี ทาวเวอร์ วิภาวดี – จตุจักร แล้ว LPN ก็ยังมีโครงการที่อยู่อาศัยอย่างลุมพินี พาร์ค วิภาวดี – จตุจักร ที่พร้อมอยู่ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2562 ที่ผ่านมา เป็นคอนโด High-rise จำนวน 21 ชั้น 1 อาคาร อยู่ในพื้นที่โครงการเดียวกันกับอาคารสำนักงาน มีจำนวน 736 ยูนิต พื้นที่ใช้สอยอยู่ที่ 24 - 53 ตารางเมตร รูปแบบห้องแบ่งออกเป็น 3 type คือ Studio, 1 Bedroom และ 2 Bedrooms มีที่จอดรถคิดเป็น 37% จากยูนิตอยู่อาศัย ไม่นับรวมจอดซ้อนคัน พร้อมทั้งสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน ไม่ว่าจะเป็นสระว่ายน้ำ, ลานโยคะ, Co-working Space และอีกมากมาย
The Saint Residences


ฝั่งตรงข้ามเยื้องมาทางถนนวิภาวดีรังสิต เส้นทางมาจากดอนเมือง, ถนนลาดพร้าว ก็มีอีกหนึ่งโครงการคือ The Saint Residences จาก Salan Development ตัวโครงการแล้วเสร็จตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 เป็นคอนโด High-rise 41 ชั้น จำนวน 3 อาคาร บนพื้นที่กว่า 7 ไร่ มีห้องพักจำนวน 1,537 ยูนิต พื้นที่ใช้สอยอยู่ที่ 29-70 ตารางเมตร มีรูปแบบห้องอยู่ 2 type คือ 1 Bedroom และ 2 Bedrooms ที่จอดรถคิดเป็น 45% ของพื้นที่อาศัย สิ่งอำนวยความสะดวกมากมายทั้งสระว่ายน้ำระบบน้ำเกลือ, ห้องฟิตเนส, ห้องซาวน่า และสตรีม สวนดาดฟ้า และล็อบบี้อเนกประสงค์ให้ใช้งาน

โครงการ The Saint Residences
. . . . . . . . . .
โครงการคอนโดในอนาคตบนถนนวิภาวดีรังสิต
เราได้กล่าวถึงโครงการที่พร้อมอยู่กันไปแล้ว คราวนี้เราจะมากล่าวถึงโครงการที่กำลังดำเนินการอยู่บ้าง โดยที่จะยกตัวอย่างมานี้มีทั้งหมด 3 โครงการด้วยกัน ซึ่งแต่ละโครงการมีกำหนดแล้วเสร็จในอนาคตทั้งสิ้น เป็นการบ่งบอกได้ว่านักลงทุนทั้งหลายเล็งเห็นถึงศักยภาพของย่านถนนวิภาวดีรังสิตเป็นอย่างดี มาดูกันดีกว่าว่ามีโครงการอะไรบ้างที่กำลังก่อสร้างกันอยู่ตอนนี้
The Privacy Jatujak
โครงการแรกที่เราจะพูดถึงคือ The Privacy Jatujak โดย บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) เป็นคอนโดประเภท High Class อาคาร High-rise 1 อาคาร จำนวน 34 ชั้น 847 ยูนิต บนเนื้อที่กว่า 3 ไร่ ตั้งอยู่บนถนนวิภาวดีรังสิต เส้นทางมุ่งสู่ดินแดง มีพื้นที่ใช้สอย 26-53 ตารางเมตร มีรูปแบบห้อง 4 type คือ 1 Bedroom, Loft, 2 Bedrooms 1 Toilet และ 2 Bedrooms 2 Toilets พื้นที่จอดรถคิดเป็น 43% สิ่งอำนวยความสะดวกก็หลากหลายไม่ว่าจะเป็นสระว่ายน้ำ, Work out Space, Co-working Space และอีกมากมาย โดยมีกำหนดแล้วเสร็จในเดือน มิถุนายน พ.ศ. 2564

โครงการ The Privacy Jatujak
Mayfair Place Victory Monument
โครงการถัดมาคือ Mayfair Place Victory Monument โดย PTF Realty Co., Ltd. เป็นคอนโดประเภท High Class อาคาร High-rise 1 อาคาร จำนวน 28 ชั้น 149 ยูนิต บนเนื้อที่ 1 ไร่ ตัวโครงการตั้งอยู่บนถนนวิภาวดีรังสิต เส้นทางมุ่งสู่ดอนเมือง พื้นที่ใช้สอยอยู่ที่ 33.4 - 131 ตารางเมตร มีรูปแบบห้อง 3 type คือ 1 Bedroom, 2 Bedrooms และ Penthouse พื้นที่จอดรถคิดเป็น 65% ของพื้นที่อาศัย มีสิ่งอำนวยความสะดวกสุดหรูมากมายไม่ว่าจะเป็น Sky Lounge, Cloud Fitness หรือ Co-working Space ซึ่งตัวโครงการมีกำหนดการแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2565

โครงการ Mayfair Place Victory Monument
DENiM Jatujak
ส่วนโครงการสุดท้ายคือ Denim Jatujak โดย บริษัท แกรนด์ ยูนิตี้ ดิเวลล็อปเมนท์ จำกัด เป็นคอนโดประเภท Upper Class บนเนื้อที่กว่า 9 ไร่ ตั้งอยู่ในซอยวิภาวดีรังสิต 3 เป็นคอนโด High-rise จำนวน 3 อาคาร โดย Tower A มี 694 ยูนิต, Tower B มี 389 ยูนิต และ Tower C มี 730 ยูนิต รวมทั้งสิ้น 1,813 ยูนิต มีรูปแบบห้อง 4 type คือ Studio, 1 Bedroom, 1 Bedroom Plus และ 1 Bedroom Plus Corner พื้นที่ใช้สอยอยู่ที่ 22.5 - 34.3 ตารางเมตร พื้นที่จอดรถคิดเป็น 53% ของพื้นที่อาศัย โดยโครงการคาดว่าจะแล้วเสร็จในไตรมาสที่ 2 ของปี พ.ศ. 2565

โครงการ DENiM Jatujak
. . . . . . . . . .
จากถนนวิภาวดีรังสิต สมัยก่อนที่มีเพียงทุ่งนาและบ้านเรือนบางตา บัดนี้ได้กลายมาเป็นถนนที่คับคั่งไปด้วยผู้คน การจราจรและการลงทุน เริ่มจากการเชื่อมต่อเข้ากับถนนเส้นทางต่าง ๆ ที่ตัดผ่าน ทำให้เริ่มมีชุมชนอยู่อาศัยหนาตามากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งการมาถึงของโครงข่ายคมนาคมรถไฟฟ้าที่กำลังจะพลิกโฉมย่านนี้ไปตลอดกาล ในอนาคตข้างหน้าอัตราการแข่งขันด้านการลงทุนของย่านนี้จะพุ่งขึ้นจนกลายเป็นทำเลทองอีกแห่งในกรุงเทพมหานคร ที่มีทั้งศูนย์เศรษฐกิจและย่านที่พักอาศัยเกิดขึ้นอีกมาก ให้ถนนวิภาวดีรังสิตนี้ไม่เป็นเพียงทางผ่านอีกต่อไป และนี้ก็เป็นการเจาะลึกทำเลจาก CondoNewb เว็บไซต์ข่าวสารอสังหาฯ และการลงทุนคอนโดที่นำข้อมูลมาฝากกัน และมาติดตามกันอีกนะ