นั่งแช่บนโต๊ะทำงานทุกวัน ๆ เชื่อว่าพนักงานออฟฟิศหลายๆคนคงกำลังเรียกหาการนวดออฟฟิศซินโดรมอยู่แน่นอน เพราะนอกจากจะช่วยให้ลดอาการปวดเมื่อยได้แล้วยังได้ผ่อนคลายเหมือนได้พักผ่อนไปในตัวอีกด้วย เอาจริง ๆ แล้ว โรคออฟฟิศซินโดรมหรือคอมพิวเตอร์ซินโดรมที่พนักงานออฟฟิศกำลังเผชิญอยู่นั้น อาจร้ายแรงขึ้นหากไม่ได้รับการบำบัดหรือรักษาอย่างถูกวิธี และอาจกระทบต่อการดำเนินชีวิตของคุณได้
. . . . . . . . . . .
รู้หรือไม่? ทำงานหน้าคอมพิวเตอร์เสี่ยงเป็นโรคออฟฟิศซินโดรมมากขึ้น
ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณะสุขยังระบุว่า 10% ของคนทำงานในเมือง มีแนวโน้มเจ็บป่วยด้วยโรคออฟฟิศซินโดรมมากขึ้น ซึ่งเกิดจากพฤติกรรมการนั่งทำงานอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์สูงกว่า 6 ชั่วโมงต่อวัน โดยชั่วโมงการทำงานที่มากขึ้นย่อมส่งผลต่อเปอร์เซ็นต์การเป็นโรคออฟิศซินโดรมเพิ่มขึ้นด้วย
นอกจากนี้ ยังรวมไปถึงแนวโน้มการเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน อย่างเช่นโรคความผิดปกติของโครงร่างกล้ามเนื้อ (Work-Related Musculoskeletal Disorders, WMSDs) ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นปัญหาสุขภาพอันดับหนึ่งของวัยทำงาน สาเหตุหนึ่งเกิดขึ้นจากโรคคอมพิวเตอร์ซินโดรม ซึ่งเป็นโรคที่เราสามารถพบเห็นได้บ่อยครั้งขึ้น สังเกตอาการเจ็บป่วยของผู้ปฏิบัติงานในสังคม จนอาจกล่าวได้ว่า โรคออฟฟิศซินโดรมเป็นปรากฏการณ์ของโรคของวัยทำงานยุคใหม่
. . . . . . . . . . .
สาเหตุของ “ออฟฟิศซินโดรม”
เกิดจากการทำงานอย่างใดอย่างหนึ่งซ้ำๆเป็นเวลานาน หรืออยู่ในท่าทางการทำงานที่ไม่เหมาะสมต่อเนื่องแล้วยังอาจเกิดจากปัจจัยอื่นได้ เช่น สภาพแวดล้อมหรืออุปกรณ์ในการทำงานที่ไม่เหมาะสม เช่นโต๊ะหรือเก้าอี้ที่ใช้ทำงานสูงหรือต่ำจนเกินไป ไม่เหมาะกับโครงสร้างของร่างกาย หรือสภาพร่างกายอื่นๆ ที่อาจส่งผลต่ออาการเจ็บป่วย เช่น ความเครียดจากการทำงาน การพักผ่อนที่ไม่เพียง การได้รับสารอาหารไม่ครบ หรือทานอาหารไม่ตรงเวลา เป็นต้น
. . . . . . . . . . . .
สังเกตอาการของคนเป็น “ออฟฟิศซินโดรม”
ลองสำรวจอาการของตัวเองดูซิว่าเข้าข่ายเป็นโรคออฟฟิศซินโดรมแล้วหรือยัง? โดยอาการของโรคนี้จะทำให้ปวดกล้ามเนื้อบริเวณส่วนต่างๆของร่างกาย เช่น คอ, บ่า, ไหล่ สะบัก และ หลัง ส่วนใหญ่มักพบอาการปวดเป็นบริเวณกว้าง หรือบางครั้งไม่สามารถบอกตำแหน่งที่มีอาการปวดได้อย่างชัดเจน โดยผู้ป่วยบางรายอาจพบอาการปวดร้าวไปยังตำแหน่งต่างๆของร่างกายได้ อาการปวดอาจมีน้อยไปหามากซึ่งมักจะทำให้เกิดความรำคราญต่อการใช้ชีวิตประจำวัน หรือในขณะทำงาน ส่วนอาการทางระบบประสาทที่ถูกกดทับ เช่น อาการชาบริเวณแขนและมือ รวมถึงอาการอ่อนแรง หากมีการกดทับเส้นประสาทนานจนเกินไป
. . . . . . . . . . .
วิธีป้องกันและรักษาโรคออฟฟิศซินโดรม
ต้องบอกว่าวิธีการรักษาที่ดีและเหมาะสมคือการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ โดยวิธีการที่ดีที่สุดที่จะป้องกันอาการจากออฟฟิศซินโดรมได้นั้น คือต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการทำงาน จัดสภาพแวดล้อมในการทำงานให้เหมาะสม ออกกำลังกายและพักผ่อนให้เพียงพอ เพียงเท่านี้ก็จะทำให้สุขภาพร่างกายดีขึ้น ลดอาการบาดเจ็บจากการทำงานและเพิ่มคุณภาพชีวิตและประสิทธิภาพในการทำงานได้อย่างถาวร
แต่สำหรับคนที่กำลังเผชิญกับอาการเจ็บปวดจากโรคออฟฟิสซินโดรม ก็ยังมีแนวทางการรักษาด้วยกันหลายวิธี ทั้ง การรักษาด้วยยา การปรับสภาพแวดล้อมในการทำงาน การทำกายภาพบำบัดเพื่อยืดกล้ามเนื้อ การออกกำลังกายเพื่อรักษาปวดหลังเพิ่มสมรรถภาพร่างกาย และปรับอิริยาบถให้ถูกต้อง หรือการรักษาด้วยศาสตร์ทางเลือกอื่น เช่น การฝังเข็ม หรือการนวดออฟฟิศซินโดรมนั่นเอง

ขอบคุณภาพจาก : www.petcharavejhospital.com
. . . . . . . . . . .
นวดออฟฟิศซินโดรมช่วยได้จริงไหม?
หลายคนสงสัยว่า การนวดเพื่อการรักษาโดยนักกายภาพบำบัด จะรักษาอาการออฟฟิศซินโดรมได้ไหม?
ออฟฟิศซินโดรม สาเหตุหลักๆ เกิดจากการจัดท่วงท่าในการทำงานไม่ถูกต้อง ไม่ว่าจะเป็นการนั่ง หรือการเดิน การนวดออฟฟิศซินโดรมโดยนักกายภาพบำบัดจะช่วยบรรเทาอาการปวดเมื่อยได้ และรักษาที่ต้นตอโดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม โดยเฉพาะท่าในการทำงานให้เหมาะสม ดังนั้นการนวดออฟฟิศซินโดรมเพื่อการรักษาโดยนักกายภาพบำบัดจึงสามารถช่วยรักษาอาการออฟฟิศซินโดรมได้นั่นเอง
ซึ่งข้อดีของนวดออฟฟิศซินโดรมโดยนักกายภาพบำบัดคือ คุณจะได้รับการตรวจ และประเมินอาการโดยผู้เชี่ยวชาญ ทำให้รู้ถึงสาเหตุของอาการปวด ช่วยรักษาอาการได้อย่างตรงจุด นอกจากนี้นักกายภาพบำบัดยังช่วยปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตให้เหมาะสม เช่น ท่าทางการนั่ง การเดิน การยืน รวมไปถึงแนะนำท่ากายบริหารที่ควรทำในแต่ละวัน เพื่อลดโอกาสการกลับมาเป็นซ้ำได้อีกด้วย
การนวดออฟฟิศซินโดรมยังมีประโยชน์ต่อร่างกายหลายด้าน อย่างเช่น ลดอาการเกร็งกล้ามเนื้อ ให้ความตึงลดลง, ลดการยึดติดของเนื้อเยื่อใต้ผิวหนังและแผลเป็น, เพิ่มการไหลเวียนกลับของเลือดและน้ำเหลือง, เพิ่มการเคลื่อนไหวข้อต้อ ข้อยึดติดที่ไม่รุนแรง, ลดอาการปวดจากการกระตุ้นการหลั่งสารบรรเทาความเจ็บปวด (Endogenous endorphins) อีกทั้งเกิดความรู้สึกผ่อนคลาย ลดความวิตกกังวลและความตึงเครียดของจิตใจได้อีกด้วย
. . . . . . . . . . .
วิธีนวดออฟฟิศซินโดรม คลายปวดด้วยตัวเอง
หากคุณเป็นคนหนึ่งที่ชอบผ่อนคลายความปวดด้วยการนวดออฟฟิศซินโดรม คุณสามารถบรรเทาอาการปวดตามจุดต่างๆด้วยตัวเองได้ที่บ้านแบบง่ายๆ ด้วยวิธีเหล่านี้
ใบหน้าและท้ายทอย
นวดตรงจุดกึ่งกลางระหว่างคิ้ว ใช้นิ้วที่ถนัดกดเบาๆ 3-5 ครั้ง แล้วคลายออกด้านข้าง และตรงจุดใต้หัวคิ้ว ใช้ปลายนิ้วที่ถนัดกดคลึงเบาๆ 3-5 ครั้ง
นวดตรงจุดกึ่งกลางใต้ท้ายทอยตรงรอยบุ๋ม ให้ใช้นิ้วหัวแม่มือกด 3-5 ครั้ง และตรงจุดสองจุดด้านข้างรอยบุ๋ม ให้ใช้วิธีการประสานมือบริเวณท้ายทอย แล้วใช้นิ้วหัวแม่มือทั้งสองข้างกดจุด พร้อมๆ กัน 3-5 ครั้ง
ต้นคอและบ่า
ประสานมือบริเวณท้ายทอย ใช้นิ้วหัวแม่มือทั้งสองข้าง กดตามแนวสองข้างของ กระดูกต้นคอ โดยกดไล่จากบริเวณตีนผมลงมาถึงบริเวณบ่า 3-5 ครั้ง ใช้ปลายนิ้วมือขวาบีบไหล่ซ้าย ไล่จากบ่าเข้าหาต้นคอ ใช้ปลายนิ้วมือซ้ายบีบไหล่ขวา ไล่จากบ่าเข้าหาต้นคอ ทำซ้ำ 3-5 ครั้ง
ส่วนบ่าด้านหน้า ใช้นิ้วหัวแม่มือกดจุดใต้กระดูกไหปลาร้า จุดต้นแขน และจุดเหนือรักแร้ ของบ่าซ้าย ใช้นิ้วหัวแม่มือซ้ายกดจุดเดียวกันที่บ่าขวา ทำซ้ำ 3-5 ครั้ง บ่าด้านหลัง ใช้นิ้วที่ถนัดของมือขวาอ้อมไปกดจุดบนและจุดกลางของกระดูกสะบัก และจุดรักแร้ด้านหลังของบ่าซ้าย ใช้นิ้วที่ถนัดของมือซ้ายกดจุดเดียวกันที่บ่าขวา ทำซ้ำ 3-5 ครั้ง
หลังและสะโพก
นอนหงายและชันเข่า ข้างหนึ่งขึ้นมา วางตั้ง ขนานไปกับขาอีกข้าง ที่เหยียดตรง ใช้มือข้างตรงข้ามจับเข่าที่ ตั้งขึ้น หายใจเข้า หายใจออก พร้อมกับดึง หัวเข่าให้พับลงมาฝั่งเดียว กับมือที่จับให้แตะถึงพื้น โดยไม่ยกไหล หายใจเข้าออกปกติ 3-5 ครั้งแล้วผ่อนออก ทำสลับอีกข้าง
แขน
ใช้นิ้วหัวแม่มือกดจุดแนวแขนด้านหน้า จากเหนือกึ่งกลางข้อมือ (แนวนิ้วกลาง) ไปจนถึงร่องกล้ามเนื้อสามเหลี่ยม
น่องและข้อเท้า
เหยียดขาข้างหนึ่งออกและวางขาอีกข้าง วางไว้ระดับเข่า ใช้นิ้วหัวแม่มือซ้อนกันเป็นแนวนอน กดจุดแนวชิดกระดูกหน้าแข้งด้านใน โดยวางนิ้วขนานกับแนวกระดูก
สำหรับใครที่พอจะมีกำลังทรัพย์หน่อย อยากแนะนำให้คุณลองเข้าไปใช้บริการนวดออฟฟิศซินโดรมตามโรงพยาบาล หรือคลินิกออฟฟิศซินโดรมดูก็น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีขึ้น เพราะนอกจากจะได้รับการวินิจฉัยโรคที่ตรงจุด การรักษาด้วยการบำบัดหรือนวดออฟฟิศซินโดรมก็จะเป็นไปตามวิธีที่ถูกต้องและปลอดภัย โดยสามารถค้นหาข้อมูลจากอินเตอร์เน็ตระบุพื้นที่ที่คุณอยู่น่าจะสะดวกและปลอดภัยมากกว่า

ขอบคุณภาพจาก : www.girlsallaround.com
. . . . . . . . . . .
คลินิกที่ให้บริการรักษาและบำบัดโรคออฟฟิศซินโดรมในกรุงเทพมีที่ไหนบ้างไปดูกันว่ามีที่ไหนกันบ้าง
1. นวดออฟฟิศซินโดรมที่โรงพยาบาลศิริราชปิยมหาราชการุณย์
สัมผัสการนวดไทยแบบราชสำนัก ที่จะใช้เพียงนิ้วกดไปตามจุดที่ต้องรักษาเท่านั้น โดยจะมีหมอมาวินิจฉัยอาการก่อนว่าต้องกดที่จุดไหนบ้าง เมื่อนวดเสร็จแล้วหมอจะนำสมุนไพรมาประคบให้ ช่วยให้ผ่อนคลาย สบาย และมีกลิ่นหอม แต่หมออาจจะนัดให้มารักษาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้หายขาดจากอาการออฟฟิศซินโดรม
รายละเอียดเพิ่มเติม : www.siphhospital.com
ที่ตั้ง : รพ.ศิริราช ตึกใหม่ (ติดริมแม่น้ำ) ชั้น 7 คลินิกอายุรเวทแพทย์แผนไทยประยุกต์
วัน/เวลา ทำการ : ทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง
ราคาเริ่มต้น : 550 บาท
2. นวดออฟฟิศซินโดรมที่หัวเฉียวแพทย์แผนจีน
การรักษาด้วยแพทย์แผนจีน เป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่ช่วยในการแก้ปัญหาออฟฟิศซินโดรม โดยที่นี่จะมีวิธีการรักษาหลายแบบ จุดเด่นคือการนวดทุยหนา ซึ่งเป็นศาสตร์การนวดของแผนจีนอย่างหนึ่ง ทำให้เลือดลมไหลเวียนได้ดีขึ้น นอกจากนั้นยังมีการรักษาด้วยการฝังเข็มกระตุ้นไฟฟ้า การอบสมุนไพรจีน การครอบแก้ว แต่การรักษาก็ขึ้นอยู่กับการประเมินอาการของแพทย์คนจีนอีกครั้ง
รายละเอียดเพิ่มเติม : www.huachiewtcm.com
ที่ตั้ง : ซอยนาคเกษม แขวงคลองมหานาค เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย คลินิกฯ อยู่ติด รพ.หัวเฉียวแพทย์แผนปัจจุบัน (ใกล้ตลาดโบ๊เบ๊)
วัน/เวลา ทำการ : 08.00-16.00 น. ทุกวัน (ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
ราคาเริ่มต้น : 800 บาท
นวดออฟฟิศซินโดรมที่OSS Lounge
การนวดออฟฟิศซินโดรมผ่อนคลายด้วยบรรยากาศสปา ควบคู่การรักษาอย่างเข้มข้นกับนักกายภาพบำบัด โดยที่นี่จะมีโปรแกรมแก้ออฟฟิศซินโดรมโดยเฉพาะ จะรักษาด้วยการนวดกดจุดในกรณีที่อาการยังอยู่ในขั้นต้น และใช้เครื่องอัลตร้าซาวด์เมื่อเป็นแบบเรื้อรัง นอกจากนั้นยังมีบริการอบโอโซนเพื่อให้กล้ามเนื้อผ่อนคลาย คล้ายกับการซาวน่าในสปา
รายละเอียดเพิ่มเติม : www.osslounge.com
ที่ตั้ง : ทองหล่อ 25 ซ.แสงเงิน (ไม่มีที่จอดรถเข้าซอยลึกนิดนึง)
วัน/เวลา ทำการ : เปิดบริการทุกวัน 10.00-20.00 น.
ราคาเริ่มต้น : 1800 บาท
. . . . . . . . . . .
สำหรับการรักษาด้วยวิธีการนวดออฟฟิศซินโดรมนั้น อาจะเป็นเพียงทางเลือกหนึ่งในการรักษาและบำบัดอาการของโรคออฟฟิศซินโดรมเท่านั้น สุดท้ายอาการพวกนี้อาจจะกลับมาเป็นอีกได้อีก หากคุณไม่ได้แก้จากต้นเหตุ ลองหันมาใส่ใจร่างกายของตัวเองให้มากขึ้น อย่ามัวแต่นั่งแช่ ลุกมาเคลื่อนไหว ออกกำลังกาย พร้อมปรับท่าทางการนั่งให้ถูกต้อง แค่นี้ก็ไม่จำเป็นต้องรักษาด้วยการนวดหรือวิธีการใดใดอีกต่อไป ครั้งหน้าเราจะนำความรู้เกี่ยวกับไลฟ์สไตล์อะไรมาฝากกันอีก อย่าลืมติดตามได้ที่เว็บไซต์ข่าวสารอสังหาฯ และการลงทุนคอนโด ของเรานะคะ