ในขณะที่ในยุคปัจจุบันคนเราต้องการอากาศบริสุทธิ์กันมากขึ้น อุทยาน 100 ปี จุฬาฯ จึงนับว่าเป็นพื้นที่สีเขียว แหล่งโอโซนธรรมชาติแห่งใหม่ ที่เข้ามาตอบโจทย์ปัญหาเหล่านี้ได้เป็นอย่างดี เพราะพื้นที่ใจกลางกรุงแห่งนี้ ไม่ได้เป็นเพียงแค่สวนสาธารณะอย่างที่เราเข้าใจกัน ยังได้ถูกออกแบบมาให้เป็นสวนสาธารณะที่ช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมให้กับกรุงเทพมหานคร ที่พร้อมช่วยบรรเทาความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่นับวันมีแต่จะแปรปรวนมากขึ้นอีกด้วย และยังเป็นต้นแบบในการพัฒนาพื้นที่สีเขียวให้กับชุมชนได้เรียนรู้อย่างยั่งยืนร่วมกัน ได้เรียนรู้เรื่องราวระหว่างคนกับธรรมชาติ ในการแก้ปัญหาเกี่ยวกับสภาวะโลกร้อน และจัดการปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ และยังมีพื้นที่เป็นสวนหลังคาสีเขียวขนาดใหญ่ที่สุดของกรุงเทพ ไม่เพียงเท่านั้น อุทยาน 100 ปี จุฬาฯ ยังเป็นสำหรับทำกิจกรรมเพื่อชุมชนและสังคม โดยเปิดให้มีการจัดงานต่าง ๆ ทั้งกิจกรรมเพื่อสุขภาพ กิจกรรมทางการแสดง กิจกรรมทางดนตรี และศิลปวัฒนธรรมอีกมากมาย เป็นพื้นที่ที่ให้ความสุขทั้งกายและทางใจได้อย่างมากมายเลยทีเดียว วันนี้ CondoNewb จะพาไปรู้จักกับสวนสาธารณะพื้นที่สีเขียวใจกลางกรุง อุทยาน 100 ปี จุฬาฯ รีวิวเจาะลึกทุกซอกทุกมุม กับสวนสาธารณะที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของทุกคน
. . . . . . . . . .
อุทยาน 100 ปี จุฬาฯ คืออะไร
ถ้าจะบอกอย่างเข้าใจง่ายมากที่สุด อุทยาน 100 ปี จุฬาฯ ก็คือสวนสาธารณะนั่นเอง แต่พิเศษตรงที่เป็นสวนสาธารณะที่ตั้งอยู่ใจกลางเมือง ที่มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 29 ไร่ ตั้งอยู่เขตสวนหลวง-สามย่าน โดยมีถนน 100 ปี จุฬาฯ ซึ่งเดิมก็คือถนนจุฬาลงกรณ์ ซอย 5 เป็นถนนที่เชื่อมระหว่างถนนพระราม 1 กับถนนพระราม 4 โดยในอุทยาน 100 ปี จุฬาฯ แบ่งพื้นที่ออกเป็น 3 ส่วนใหญ่ ๆ คือ ลานกิจกรรมกลางแจ้ง ศูนย์การเรียนรู้ และพื้นที่สีเขียว ตามแนวคิดที่จะให้เป็น "ป่าในเมือง" ที่มีทั้งมีพื้นที่หน่วงน้ำ แนวรับน้ำ (Rain Garden) รวมทั้งระบบระบายน้ำ นอกจากนั้น ยังมีพื้นที่อเนกประสงค์และพื้นที่จอดรถอีกประมาณ 200 คัน และได้เริ่มเปิดให้บริการมาตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2560


. . . . . . . . . .
ความเป็นมา อุทยาน 100 ปี จุฬาฯ Chulalongkorn University Centenary Park
ในความเป็นจริงนั้นโครงการอุทยาน 100 ปี จุฬาฯ CU Centenary Park มีแผนและอยู่ในผังแม่บทที่เตรียมก่อสร้างไว้นานแล้ว โดยได้กำหนดให้พื้นที่ของอุทยานแห่งนี้เป็นแกนกลางระหว่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการที่จะเชื่อมต่อกับพื้นที่ส่วนพาณิชย์อื่น ๆ เพื่อให้เป็นพื้นที่สีเขียว โดยในปี 2555 สำนักงานจัดการทรัพย์สินของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ได้มีการจัดให้มีการประกวดออกแบบอุทยานในโอกาสเฉลิมฉลองที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีอายุครบ 100 ปี และผลสรุปก็เป็นบริษัท Landprocess และทีมสถาปัตยกรรมจาก N7A Architects ที่เป็นผู้ชนะการประกวดออกแบบ โดยการก่อสร้างพื้นที่อุทยาน 100 ปี จุฬาฯ นั้นคือการสร้างจากพื้นที่เดิมทั้งหมดที่เป็นตึกแถว อาคารพาณิชย์ ที่หมดอายุสัญญาเช่า และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไม่ต่อสัญญานั่นเอง
แนวคิดการสร้างอุทยาน 100 ปี จุฬาฯ
เป็นการออกแบบภายใต้แนวคิดตั้งต้นจากกิ่งรากของต้นจามจุรี ที่เป็นสัญลักษณ์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยยึดการออกแบบที่มีลักษณะยืดหยุ่น สื่อถึงการปรับเปลี่ยนได้ตามสภาวะแวดล้อม ด้วยการเชื่อมโครงสร้างระบบนิเวศ เพิ่มพื้นที่สาธารณะ พื้นที่พักผ่อน และสันทนาการในเขตเมืองแบบ ด้วยการออกแบบพื้นที่ว่างแบบ Urban Green Infrastructure ด้วยถนน และพื้นที่สีเขียวขนาดต่าง ๆ ในระดับชุมชน ดังนี้
1. เกิดขึ้นตามพระราชปณิธาน
สำหรับอุทยาน 100 ปี จุฬาฯ เกิดขึ้นตามพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ที่ได้ทรงพระราชทานที่ดินให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเพื่อให้เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ และเป็นการคืนประโยชน์ให้กับสังคมส่วนรวมด้วย
2. การออกแบบที่เชื่อมกัน
การออกแบบพื้นที่สีเขียวขนาดเกือบ 30 ไร่ ให้เป็นประโยชน์ที่ลงตัวระหว่างมหาวิทยาลัยกับชุมชน ด้วยการเชื่อมพื้นที่ให้ถึงกันทั้งพื้นที่สำหรับจัดกิจกรรม เส้นทางระหว่างพระราม 1 กับถนนพระราม 4 โดยมีถนน 100 ปี จุฬาฯ หรือถนนจุฬาลงกรณ์ ซอย 5 เดิม เป็นถนนที่เชื่อมให้เข้าถึงพื้นที่ ในการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ได้สะดวก และเพื่อให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมเดินทางได้สะดวก
3. การออกแบบที่เข้ากับทุกกิจกรรมคนเมือง
ออกแบบให้มีความยืดหยุ่นสูง เพื่อให้เกิดความสะดวกในการเข้าใช้พื้นที่ของคนทุกคน ทั้งการเข้ามาจัดกิจกรรมเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างนิสิตกับชุมชน หรือการเข้ามาศึกษาวิถีความเป็นไประหว่างคนกับธรรมชาติ โดยมีพื้นที่สีเขียวเป็นส่วนกลางในการเชื่อมต่อ และขยายแนวของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไปทางทิศตะวันตก
4. สรรหาพรรณไม้กับบริบทพื้นที่รับน้ำ
ปลูกพรรณไม้พื้นถิ่นตามแนวคิดป่าในเมือง (Urban Forestry) โดยใช้ต้นไม้หลากหลายชนิด หลากหลายสายพันธุ์ เพื่อให้เป็นต้นแบบของสวนสาธารณะที่ทำหน้าที่เป็นพื้นที่หน่วงน้ำ และเป็นพื้นที่น้ำซึมดินในเขตเมือง

. . . . . . . . . .
Concept ในการออกพื้นที่รับน้ำ (Rain Garden) ภายในอุทยาน 100 ปี จุฬาฯ
จากแนวคิดในการสร้างพื้นที่สาธารณะเพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว โดยประโยชน์ที่ได้รับจากแนวคิดดังกล่าวจึงกลายเป็นแนวพื้นที่รับน้ำ (Rain Garden) ด้วยการปลูกต้นไม้สองข้างทาง มีระบบท่อระบายน้ำใต้ดินรองรับ เพื่อช่วยในการทำหน้าที่ซึมน้ำและหน่วงน้ำ ด้วยการปลูกต้นไม้สองข้างทางของถนนเชื่อมต่อถนนพระราม 1 และพระราม 4 เพื่อเป็นพื้นที่จัดกิจกรรมต่าง ๆ นั่นเอง
ออกแบบและสร้างระบบนิเวศบนพื้นที่นันทนาการของชุมชนเมือง
ด้วยการสร้างระบบหมุนเวียนของน้ำในอุทยาน 100 ปี จุฬาฯ ด้วยแนวคิดการออกแบบพื้นที่ชุ่มน้ำประดิษฐ์ (Construct Wetland) เพื่อทำหน้าที่กักเก็บน้ำฝนไว้ใช้รดน้ำต้นไม้ และเป็นพื้นที่ซึมน้ำและหน่วงน้ำอีกด้วย โดยพื้นที่ชุ่มน้ำประดิษฐ์จะทำหน้าที่ช่วยกักเก็บน้ำฝนไว้เพื่อใช้รดน้ำต้นไม้
ออกแบบให้มีพื้นที่ซึมน้ำที่มีลักษณะแบบแก้มลิง (Monkey Cheeks)
ที่เป็นพื้นที่ลักษณะเป็นแอ่งเพื่อรองรับและกักเก็บน้ำในช่วงฝนตก โดยสร้างครอบคลุมตั้งแต่ช่วงทางเข้าอุทยาน 100 ปี จุฬาฯ ซึ่งเป็นพื้นที่โล่งกว้าง เข้าถึงง่าย สะดวกในการเดินทาง ในการจัดกิจกรรมต่าง ๆ รวมทั้งยังมีพื้นที่สีเขียวระหว่างสองข้างทางก็ทำหน้าที่เป็นพื้นที่ซึมน้ำแบบแก้มลิง โดยใช้ต้นจามจุรีเป็นสัญลักษณ์
การออกแบบฐานของอุทยาน 100 ปี จุฬาฯ ให้มีพื้นที่ลาดเอียง
เพื่อความสามารถในการซึมน้ำและดักน้ำ เรียกว่าสวนซึมน้ำ (Porous Park) ทำหน้าที่เหมือนเป็นฟองน้ำเพื่อซึมน้ำและเก็บน้ำฝนไว้เพื่อนำกลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์
ออกแบบพื้นที่หน่วงน้ำ ที่สามารถหน่วงน้ำได้ประมาณ 3 - 4 ชั่วโมง
นั่นคือบ่อหน่วงน้ำที่มีทั้งบ่อหน่วงน้ำแบบเปียก (Retention Pond) และบ่อหน่วงน้ำแบบแห้ง (Detention Pond) ทำหน้าที่เก็บกักและชะลอน้ำฝนก่อนระบายออกสู่พื้นที่สาธารณะ

. . . . . . . . . .
Concept ในการออกแบบถนน อุทยาน 100 ปี จุฬาฯ
โดยการนำถนนจุฬาลงกรณ์ ซอย 5 ที่มีอยู่เดิม มาปรับให้เป็นถนนสีเขียว ออกแบบเพื่อลดการใช้รถ พัฒนาเป็นถนนคนเดิน เพื่อทำหน้าที่เป็นถนนเชื่อมต่อชุมชนเมือง ซึ่งจะมีความกว้าง 30 เมตร และยาว 1.35 กิโลเมตร พร้อมช่องเดินรถ 2 เลน เพิ่มพื้นที่สีเขียวด้วยการปลูกต้นไม้ตลอดแนวสองข้างทาง โดยถนนเส้นนี้เชื่อมระหว่างอุทยาน 100 ปี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถนนพระราม 1 และถนนพระราม 4 เป้าหมายหลักคือสร้างความต่อเนื่องหากมีการจัดกิจกรรมต่าง ๆ และยังออกแบบให้เป็นถนนสีเขียวต้นแบบที่มีทั้งต้นไม้ใหญ่ ไม้พุ่มร่มรื่น เพื่อส่งผลให้ผู้ขับรถใช้เส้นทางขับรถช้าลง (Slow Traffic) และเป็นการส่งเสริมให้เห็นความสำคัญของสภาพแวดล้อมและการเดินทาง ขี่จักรยาน หรือแม้กระทั่งการโดยสารรถโดยสารสาธารณะขนส่งมวลชน (Mass Transit) ด้วยเช่นกัน
. . . . . . . . . .
พื้นที่ใช้สอยภายใน อุทยาน 100 ปี จุฬาฯ มีอะไรบ้าง?
จากแนวคิดที่เป็นทั้งพื้นที่ต้นแบบของสวนสาธารณะ และพื้นที่ของกิจกรรมของชุมชน ทำให้พื้นที่ใช้สอยภายในอุทยาน 100 ปี จุฬาฯ แบ่งออกเป็นส่วนประกอบต่าง ๆ ดังนี้
พื้นที่กิจกรรมกลางแจ้ง ห้องเรียนธรรมชาติ
เป็นพื้นที่ที่มีไว้เพื่อรองรับการใช้งาน และการจัดกิจกรรมในรูปแบบที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นการแบ่งกลุ่มพูดคุย บรรยาย ทำงานกลุ่ม Event ฯลฯ บรรยากาศผ่อนคลายแบบสวนกลางแจ้ง แบ่งเป็น 3 ส่วน คือ
1. พื้นที่จัดกิจกรรมขนาดเล็ก
รองรับการใช้งานจำนวนไม่เกิน 50 คน มีทั้งหมด 8 จุด อยู่บริเวณโซนด้านหน้าของอุทยาน โดยพื้นที่ส่วนนี้จะเป็นเหมือนกับเป็นห้องเรียนกลางแจ้ง ออกแบบให้มีที่นั่งรูปครึ่งวงกลมเป็นชั้น ๆ แบบอัฒจันทร์ มีพื้นที่ตรงกลางสำหรับทำกิจกรรมหรือบรรยายให้ความรู้ต่าง ๆ มีการตั้งชื่อพื้นที่กิจกรรมต่าง ๆ เช่น Earth Room, Bamboo Room, Gravel Room, Herb Room, Sand Room, Vine Room โดยแต่ละพื้นที่จะมีพันธุ์ไม้ต่าง ๆ เป็นส่วนประกอบในการตั้งชื่อ
2. พื้นที่จัดกิจกรรมขนาดกลาง
สามารถรองรับการใช้งานได้ประมาณ 700 - 1,400 คน อยู่บริเวณโซนสนามหญ้าพื้นที่จัดกิจกรรมขนาดกลาง มีอยู่ทั้งหมด 4 จุด
3. พื้นที่จัดกิจกรรมขนาดใหญ่
รองรับคนได้ประมาณ 9,700 คน และอีกฝั่งรับได้ประมาณ 2,700 คน และบริเวณสนามหญ้าทั้งหมดรองรับคนได้ประมาณ 7,000 คน พื้นที่จัดกิจกรรมขนาดใหญ่ หรือคอนเสิร์ต มีอยู่ทั้งหมด 2 จุด
อาคารอเนกประสงค์
เป็นอาคารที่สร้างขึ้นมา เพื่อสะท้อนแนวคิดของรัชกาลที่ 5 ที่ได้พระราชทานที่ดินให้แก่จุฬาฯ คือการคืนประโยชน์สุขสู่สังคมส่วนรวม โดยมีการออกแบบอาคารให้กลมกลืนกับพื้นที่ ออกแบบแผนภูมิสถาปัตยกรรมที่เปรียบเป็นซุ้มประตู Gateway และเป็น Landmark โดยให้หลังคาสีเขียว Green Roof หรือสวนหลังคาของอาคารอเนกประสงค์ เชื่อมต่อลงมาถึงพื้นที่ด้านล่างด้วยเนินดินเป็นทางลาดตามมาตรฐานและสเกลขนาดใหญ่ ที่มองด้วยตาเปล่าจะไม่รู้สึกถึงความลาดเอียง เป็นการออกแบบที่สะท้อนให้เห็นถึงความต่อเนื่องอย่างไม่มีที่สิ้นสุด สวนหลังคา (Green Roof) จะทำหน้าที่ช่วยลดอุณหภูมิภายในอาคารได้เป็นอย่างดี

พื้นที่ชุ่มน้ำประดิษฐ์ (Constructed Wetland)
เป็นทั้งพื้นที่เพื่อสร้างระบบนิเวศและเป็นพื้นที่นันทนาการ โดยออกแบบให้มีระบบหมุนเวียนน้ำ เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำประดิษฐ์ให้กับพื้นที่ต่าง ๆ ในเขตอุทยาน 100 ปี จุฬาฯ และยังเป็นพื้นที่ซึมน้ำ - หน่วงน้ำให้กับเมือง โดยใช้ระบบชีววิศวกรรม (Biomedical Engineering) ในการบำบัดน้ำ พื้นที่ชุ่มน้ำ แบ่งออกเป็น 2 ฝั่ง ขนานกันเป็นแนวยาว บริเวณส่วนกลางของพื้นที่ จะลาดเอียงเพื่อรองรับธรรมชาติของน้ำที่ไหลจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำ โดยจะให้น้ำไหลผ่านพืชชายน้ำและกลุ่มพืชทนน้ำ ที่มีความสามารถในการดูดสารพิษ และช่วยฟื้นฟูสภาพแวดล้อม (Phytoremediation) ของน้ำเสีย ที่ไหลมาจากอาคารในพื้นที่อุทยาน รวมไปถึงพื้นที่ข้างเคียง ก่อนจะปล่อยลงสู่ Retention Pond เป็นการสร้างระบบนิเวศหมุนเวียนน้ำในอุทยาน

สวนซึมน้ำ (Porous Park)
ออกแบบในลักษณะลาดเอียง เพื่อให้สามารถซึมน้ำดักและเก็บน้ำฝนเพื่อนำมาใช้ในหน้าแล้ง หรือไว้ใช้ยามจำเป็น โดยพื้นที่แห่งนี้จะทำหน้าที่เก็บและชะลอน้ำฝนก่อนระบาย ซึ่งสามารถเก็บน้ำไว้ได้ประมาณ 3 - 4 ชั่วโมง โดยบ่อหน่วงน้ำแบบเปียก (Retention Pond) บ่อหน่วงน้ำแบบแห้ง (Detention Lawn) และสวนน้ำฝน (Rain Garden)
1. Detention Lawn หรือบ่อหน่วงน้ำแบบแห้ง
พื้นที่ส่วนนี้จะคอยโอบอุ้มน้ำด้วยสนามหญ้าผืนใหญ่ หากเกิดฝนตกที่มีปริมาณน้ำจำนวนมาก ก็จะทำหน้าที่หน่วงน้ำเหล่านั้นไว้ ก่อนจะค่อย ๆ ซึมลงใต้ดิน ส่วนนี้จะมีทั้งพื้นที่วิ่งเล่นของเด็ก ๆ โดยมีสไลเดอร์ที่ลาดเอียงเพื่อความสนุกสนาน และขั้นบันไดเสมือนแอมฟิเธียเตอร์ (Amphitheater) คล้ายพื้นที่โรงละครขนาดย่อมเรียงอยู่ตลอดแนวพื้นที่ ไว้สำหรับนั่งพูดคุย พักผ่อน หรือทำกิจกรรมกลุ่ม
2. Retention Pond หรือบ่อหน่วงน้ำแบบเปียก
พื้นที่ส่วนนี้คือบริเวณสระน้ำขนาดใหญ่ด้านหน้าโครงการ มีไว้เพื่อรับมวลน้ำที่ไหลมารวมกัน และทำหน้าที่หน่วงน้ำไว้ เพื่อรอการระบายออกสู่พื้นที่ภายนอก โดยน้ำในพื้นที่นี่ สามารถนำไปใช้รดน้ำต้นไม้ในอุทยาน 100 ปี จุฬาฯ ทั้งหมด บริเวณริมสระน้ำยังมีพื้นที่ออกกำลังกาย ที่มีเครื่องออกกำลังกายที่ประยุกต์มาจากกังหันชัยพัฒนา ที่นอกจากจะใช้ปั่นเพื่อออกกำลังกายแล้ว ยังเป็นการช่วยเพิ่มออกซิเจนให้กับน้ำในสระด้วย
3. Rain Garden หรือสวนน้ำฝน
พื้นที่ส่วนนี้ออกแบบให้เป็นทางระบายน้ำแบบที่ไม่มีการวางท่อ แต่ใช้คุณสมบัติของไม้พุ่ม ไม้ชายน้ำ และไม้คลุมดินขนาดเล็ก คอยซับน้ำที่หลงเหลือบนพื้นทางเดิน ร่วมกับการใช้พื้นคอนกรีตแบบรูพรุน (Porous Concrete) เพื่อช่วยระบายน้ำ โดยสวนน้ำฝนจะมีแนวขนานกันไปกับถนนอุทยาน 100 ปี จุฬาฯ

. . . . . . . . . .
แนะนำจุดถ่ายรูป เช็กอินฟินไปกับ อุทยาน 100 ปี จุฬาฯ ป่ากลางกรุง
ด้วยความสวยงามโดดเด่นและแปลกตาของอุทยาน 100 ปี จุฬาฯ ที่เป็นสวนสาธารณะพื้นที่สีเขียวใจกลางกรุง ที่ออกแบบมาเป็นอย่างดี มีบรรยากาศร่มรื่น และมีกิจกรรมต่าง ๆ มากมาย ทั้งการพักผ่อนหย่อนใจ ทำกิจกรรมสันทนาการ ออกกำลังกาย หรือจะมานั่งเล่นชิล ๆ นั่งรับลมชมพระอาทิตย์ตก แถมเป็นแหล่งเรียนรู้ขนาดใหญ่อีก ทำให้ได้รับความนิยมในเวลาอันรวดเร็ว แต่หากใครถามว่าอุทยาน 100 ปี จุฬาฯ ถ่ายรูปมุมไหนสวย หรือจุดไหนฟิน อยากจะบอกว่าที่นี่เหมาะกับสายถ่ายรูปทุกจุดเลย มีมุมธรรมชาติสวย ๆ ให้ได้อัพสตอรี่กันอย่างมากมาย จะขอแนะนำจุดเด่น ๆ ที่เราชอบเป็นพิเศษก็แล้วกัน
จุดออกกำลังกายปั่นจักรยานกังหันน้ำ
เป็นกังหันน้ำที่ออกแบบมาจากกังหันน้ำชัยพัฒนา ให้เป็นจักรยานที่เราต้องปั่นเพื่อเป็นการบำบัดน้ำ เพิ่มออกซิเจนในน้ำ และได้ออกกำลังกายไปด้วยในตัว จะอยู่ในโซน Retention Pond หรือบ่อหน่วงน้ำแบบเปียก ตรงบริเวณสระน้ำขนาดใหญ่ด้านหน้าโครงการ มุมนี้จะมีทั้งบ่อน้ำ ต้นไม้สวย ๆ และทุ่งหญ้าให้ได้เพลิดเพลิน

มุมพักผ่อนชิล ๆ ริมสระน้ำ
เป็นอีก 1 จุดในอุทยาน 100 ปี จุฬาฯ ที่เราชอบมากมาย นั่งเล่นได้อย่างเพลิดเพลิน นั่งดูพระอาทิตย์ตกก็สวยงามอย่าบอกใคร นอกจากจะเป็นมุมนั่งพักผ่อนชมวิวธรรมชาติจากต้นไม้และสระน้ำแล้ว ยังมีลานกิจกรรมเล็ก ๆ ไว้ให้สนุกสนานกันด้วย

บ่อทราย
หากมากันเป็นครอบครัวก็ขอแนะนำพื้นที่ในโซนนี้เลย นอกจากธรรมชาติและต้นไม้สวย ๆ แล้ว ยังมีบ่อทรายขนาดใหญ่ไว้ให้เป็นพื้นที่สำหรับเด็ก ๆ ได้สนุกสนานและเรียนรู้ร่วมกัน เป็นพื้นที่ที่มีความปลอดภัยสูง ด้วยการปูพื้นด้วยยางสังเคราะห์ EPDM สีสันสดใส ผิวสัมผัสนุ่ม ยืดหยุ่น รองรับการกระแทกจากการวิ่งเล่น ช่วยลดและป้องกันอุบัติเหตุได้เป็นอย่างดี

สวนซึมน้ำ Porous Park
เป็นอีกจุดภายในอุทยาน 100 ปี จุฬาฯที่เราชอบมาก เป็นโซนพื้นที่ที่มีความลาดเอียงเพื่อการไหลของน้ำ และมีสวนหินเรียงรายมีตามความลาดเอียง เพื่อประโยชน์ในการกักชะลอน้ำฝน ที่ไหลจากด้านบนลงสู่ด้านล่าง เป็นพื้นที่ส่วนต้นแบบไว้กักเก็บน้ำ ที่มีความสวยงามถ่ายรูปกันได้ชิล ๆ เช่นกัน
สวนต้นไม้หนุ่มสาว
จะเป็นโซนที่มีต้นไม้ขนาดลำต้นประมาณ 4 นิ้ว เป็นต้นไม้ที่มีความสามารถในการปรับตัวสูง พร้อมจะเติบโตคู่กับเมืองไปอีก 100 ปี อย่างยั่งยืน โดยภูมิสถาปนิกอุทยานมีแนวคิดที่ไม่ต้องการล้อมต้นไม้ใหญ่มาปลูกในอุทยาน 100 ปี จุฬาฯ เพราะเท่ากับจะเป็นการลดพื้นที่สีเขียวจากแหล่งอื่น เป็นการดูแลต้นไม้แบบเติบโตไปพร้อมกัน มีต้นไม้ต่าง ๆ มากมาย เช่น ต้นตะแบก ต้นปีบ ต้นมะค่าโมง ต้นขานาง ต้นจันทน์เทศ ต้นชะพลู ต้นไผ่ดำ ต้นเสม็ดแดง ฯลฯ

ทุ่งดอกหญ้า
เรียกว่าเป็นอีก 1 มุมมหาชน ภายในอุทยาน 100 ปี จุฬาฯ เลยก็ว่าได้ ทุ่งดอกหญ้าสวย ๆ พลิ้วไปตามสายลมพัดพา อยู่ท่ามกลางพื้นที่ที่ตกแต่งทางเดินด้วยก้อนกรวดธรรมชาติ เข้ากันได้อย่างดี มุมนี้สายถ่ายรูปฟินแน่นอน
Green Roof หลังคาสีเขียว
อยู่บริเวณอาคารอเนกประสงค์ เป็นหลังคาที่แทรกตัวอยู่กับพื้นหญ้า มีบริเวณพื้นที่กว้างขวาง และมีแนวต้นไม้ รวมทั้งแนวต้นข้าวโพดยาวไปตลอดแนว ถ่ายรูปออกมาเก๋ไก๋ไม่เหมือนใครแน่นอน

- เวลาเปิด - ปิด 06.00-20.00 น.
- ที่อยู่ 342/23 จุฬาฯ 24 แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330
- Location https://goo.gl/WqjEQH
- สอบถามรายละเอียดต่าง ๆ ได้ทางโทรศัพท์หมายเลข 02 218 1686 หรือ Facebook อุทยาน 100 ปี จุฬาฯ
- Facebook www.facebook.com/chulalongkornuniversitycentenarypark/
. . . . . . . . . .
การเดินทางไปยัง อุทยาน 100 ปี จุฬาฯ
ทางรถยนต์
- จากถนนพระราม 4 ให้เลี้ยวเข้าจุฬาซอย 9 ขับตรงไปเรื่อย ๆ จะพบโครงการ I’m Park ตั้งอยู่ทางด้านซ้ายมือของอุทยาน
- จากถนนพระราม 1 ให้เลี้ยวเข้าถนนบรรทัดทอง จากนั้นเลี้ยวเข้าจุฬาซอย 12 ขับตรงไป แล้วเลี้ยวขวาเข้าจุฬาซอย 9 ก็จะเจออุทยาน
ทางรถไฟฟ้า
- รถไฟฟ้า BTS - ลงที่สถานีสนามกีฬาแห่งชาติ National Stadium Station (W1)
- รถใต้ดิน MRT – ลงที่สถานีสามย่าน (BL27)
ทางรถโดยสารสาธารณะ
- ปอ.21 40 ปอ.40 ปอ. 507 75 และ CU Pob Bus สาย 5
อุทยาน 100 ปี จุฬาฯ จอดรถได้ที่ไหน
- ลานจอดรถ อุทยาน 100 ปี จุฬาฯ โดยมีค่าบริการ 2 ชั่วโมงแรก 20 บาท ชั่วโมงต่อไป ชั่วโมงละ 20 บาท ชั่วโมงที่ 12-24 คิด 200 บาท
- I'm Park - Buffet Hub & Lifestyle Mall โดยมีค่าบริการ 15 นาทีเเรก จอดฟรี และจอดฟรี 2 ชั่วโมง เมื่อมีตราประทับ โดยเเสดงใบเสร็จรับเงินขั้นต่ำ 100 บาท ชั่วโมงต่อไป คิดชั่วโมงละ 20 บาท

อุทยาน 100 ปี ด้านฝั่งถนนบรรทัดทอง
. . . . . . . . . .
บอกได้เลยว่าอุทยาน 100 ปี จุฬาฯ เป็นทั้งป่าในเมือง ที่ช่วยฟอกอากาศบริสุทธิ์ ช่วยสร้างพื้นที่สีเขียวให้กับเมือง เป็นพื้นที่ที่เต็มไปด้วยพืชพรรณไม้นานาชนิด และยังเป็นพื้นที่สร้างสรรค์สำหรับชุมชนคนกรุงเทพที่ยั่งยืน เป็นสวนสาธารณะที่มีการออกแบบพัฒนานวัตกรรมความรู้ เพื่อแก้ไขปัญหา และร่วมกันสะท้อนภูมิปัญญา ในด้านการร่วมกันอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเพื่อรองรับอนาคตอย่างแท้จริง ทั้งการดีไซน์แผนผัง ออกแบบระบบนิเวศ ดูแลระบบน้ำ ระบบพฤกษศาสตร์ วิศวสถาปัตยกรรม การที่เราจะมีสวนสาธารณะที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตในสภาวะที่โลกต้องเผชิญกับสภาวะโลกร้อนเช่นนี้ นับว่าเป็นเรื่องที่เราทุกคนไม่ควรมองข้าม และยังต้องคอยช่วยเหลือร่วมมือกันในการดูแลอุทยาน 100 ปี เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมร่วมกัน ส่วนใครที่ยังไม่เคยไปก็ควรรีบปักหมุดแล้วไปเช็กอินกันได้เลย หรือรีบตามเรามาทางนี้เพราะเราจะพาไปกิน เที่ยว ช้อปกับพื้นที่สีเขียวใจกลางกรุง อุทยาน 100 ปี จุฬาฯ รีวิวป่าในเมือง แบบเจาะลึกทุกซอกทุกมุม กับสวนสาธารณะที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของทุกคน