Citi X ในช่วงที่หลายๆ คน ต้อง กักตัว อยู่ที่บ้าน และต้อง Work From Home ในสถานการณ์การระบาดของ เชื้อไวรัส COVID-19 นี้ ทำให้หลายๆ คนไม่ได้ออกไปไหน และต้องอยู่ที่บ้าน กินอาหารที่เราเคยกักตุนไว้ ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นทั้งบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป หรือปลากระป๋อง ซึ่งถ้าหากเรากินของแบบนั้นซ้ำ ๆ หลายมื้อแล้ว นอกจากเราจะเบื่อ มันยังส่งผลเสียต่อสุขภาพอีกด้วย เราจึงต้องเริ่ม สั่งอาหาร Delivery บ้างแล้ว ซึ่งอาหารที่เราสามารถสั่งได้ก็มีอยู่อยากหลากหลายมาก ๆ เลยครับ ขึ้นอยู่กับร้านค้าต่าง ๆ รอบ ๆ ตัวเรา ว่าร้านค้าเหล่านั้นจะเข้าร่วมกับแอปพลิเคชั่นสั่งอาหารหรือเปล่า แต่ก่อนสั่งทุกคนต้องทำความเข้าใจก่อนว่าการสั่งอาหาร Delivery ก็มีความเสี่ยงอยู่อย่างหนึ่ง คือ อาหารที่เราสั่งจะต้องผ่านหลายมือมาก ๆ ส่งผลให้อาจจะมีความเสี่ยงในเรื่องของความสะอาดหรือการปนเปื้อน ซึ่ง พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย ได้ให้คำแนะนำถึงเรื่องของการสั่งอาหาร Delivery อย่างไรให้ปลอดภัยดังนี้


คำแนะนำสำหรับร้านอาหาร
- คำแนะนำสำหรับร้านอาหาอาหารปรุงสำเร็จต้องปรุงสุกใหม่ สำหรับอาหารประเภทเนื้อสัตว์ปรุงให้สุกด้วยความร้อนไม่น้อยกว่า 70 องศาเซลเซียส หลีกเลี่ยงการจำหน่ายอาหารประเภทเนื้อสัตว์ที่ปรุงไม่สุก เช่น ปลาดิบ หรือไข่ดิบต่างๆ
- จัดให้มีที่ล้างมือพร้อมสบู่สำหรับล้างมือ หรือจัดให้มีเจลแอลกอฮอล์สำหรับทำความสะอาดมือ
- จัดสถานที่ให้เพียงพอกับจำนวนคนขนส่งอาหารที่เข้ามาใช้บริการโดยจัดระยะห่าง 1 เมตร และมีการระบายอากาศที่เหมาะสม
- จัดหาภาชนะบรรจุอาหารที่เหมาะสมกับอาหารแต่ละประเภท แข็งแรง ปกปิดมิดชิดเพื่อป้องกันการปนเปื้อนในระหว่างการขนส่ง ไม่ใช้โฟมในการบรรจุอาหาร
- อาหารปรุงสำเร็จ มีการติดฉลากที่ระบุรายละเอียดอย่างชัดเจน เช่น ชื่อร้านอาหาร วัน/เดือน/ปี เวลาที่ผลิต ระยะเวลา และอุณหภูมิที่เหมาะสมในการเก็บรักษาอาหาร เป็นต้น กรณีจัดส่งอาหารเสี่ยง เช่น อาหารที่ใช้มือสัมผัสมาก เช่น ข้าวมันไก่ ข้าวหมูแดง ข้าวหมูกรอบและอื่นๆ อาหารที่มีส่วนประกอบของกะทิ นม ควรแนะนำให้ผู้บริโภคนำไปอุ่นร้อนก่อนรับประทาน

คำแนะนำสำหรับผู้ให้บริการส่งอาหาร หรือ Deliver
- สวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันตนเอง ไอ จาม ปนเปื้อนอาหาร และลดความเสี่ยงการได้รับเชื้อโรคระหว่างให้บริการ
- ล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์ ตั้งแต่เริ่มปฏิบัติงานขนส่งอาหาร ก่อนเข้าร้านอาหาร หลังการอาหาร Delivery ให้ผู้บริโภค หลังเข้าส้วม หลังจับสิ่งสกปรก และจับเงิน
- หากมีอาการป่วย เช่น มีไข้ ไอ จาม มีน้ำมูก หรือเหนื่อยหอบ ให้หยุดปฏิบัติงานและไปพบแพทย์ทันที
- จัดหากล่องบรรจุอาหารท้ายยานพาหนะสำหรับขนส่งอาหารที่มีโครงสร้างที่แข็งแรง ปกปิดมิดชิดในลักษณะที่ช่วยป้องกันการปนเปื้อน และใช้กล่องบุฉนวนเพื่อรักษาอุณหภูมิให้อยู่ในช่วงอุณหภูมิที่เหมาะสม ต้องทำความสะอาดด้วยน้ำและน้ำยาทำความสะอาด และฆ่าเชื้อโรคด้วย Alcohol 70% โดยสเปรย์หรือหยด Alcohol 70% ลงบนผ้าสะอาดพอหมาดๆ เช็ดไปในทิศทางเดียวกันเป็นประจำทุกวัน
- ตรวจสอบคุณภาพอาหารทันทีหลังได้รับจากร้านอาหาร เช่น ความสะอาด สภาพอาหารและไม่มีกลิ่นเน่าเสีย บรรจุอยู่ในภาชนะที่มีสภาพดี ไม่ชำรุด การปกปิดอาหาร ฉลากอาหาร เป็นต้น
- การส่งอาหารต้องแยกเก็บอาหารเป็นสัดส่วน ระหว่างอาหารปรุงสำเร็จและเครื่องดื่ม และจัดส่งถึงมือผู้บริโภคให้เร็วที่สุด
- ไม่ควรเปิดกล่องบรรจุอาหารท้ายยานพาหนะจนกว่าจะพบผู้สั่งซื้ออาหาร โดยก่อนเปิดกล่องใส่อาหารทุกครั้งควรทำความสะอาดมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ จัดส่งอาหารให้ผู้สั่งซื้อโดยตรงหรือจุดที่ผู้สั่งซื้อกำหนดเพื่อลดความเสี่ยงการได้รับเชื้อโรคระหว่างให้บริการผู้สั่งซื้อ ในการส่งอาหาร คนขนส่งอาหารควรอยู่ห่างผู้รับอาหารอย่างน้อย 1 เมตร หรือในกรณีที่ไม่ได้ส่งอาหารให้กับผู้สั่งอาหารได้โดยตรง สถานที่หรือบริเวณที่จะส่งอาหารต้องไม่ทำให้อาหารเกิดการปนเปื้อน เช่น ไม่ส่งอาหารบริเวณใกล้ถังขยะ เป็นต้น และภายหลังส่งอาหารและหลังการจับเงินให้ทำความสะอาดมือด้วยเจลแอลกอฮอล์
- ถอดถุงมือผ้าในระหว่างการหยิบจับอาหาร เพราะอาจเกิดการปนเปื้อนของฝุ่นละอองและเชื้อโรคที่สะสมในถุงมือผ้า กรณีใส่ถุงมือผ้าในระหว่างการใช้ยานพาหนะขนส่งให้ล้างมือด้วยน้ำและสบู่ก่อนการสวมใส่ทุกครั้ง และเปลี่ยนถุงมือทุก 4 ชั่วโมง ทำความสะอาดถุงมือด้วยน้ำยาทำความสะอาดทุกวัน
- ใช้วิธีการส่ง 1 รายการผู้บริโภคต่อ 1 ครั้งในการส่ง เพื่อการวางแผนระยะเวลาการส่งอาหารถึงผู้บริโภคอย่างเหมาะสม และลดการสัมผัสพื้นที่ในการส่งอาหาร เพื่อลดความเสี่ยงในการรับเชื้อไวรัสจากการส่งสินค้าหลายจุด

คำแนะนำสำหรับผู้บริโภคที่ใช้บริการสั่งอาหาร Delivery
- ล้างมือด้วยน้ำและสบู่ หรือใช้เจลแอลกอฮอล์สำหรับทำความสะอาดมือ หลังการรับอาหารจากการสั่งอาหารDelivery ก่อนรับประทานอาหาร
- สวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยหากมีอาการป่วย ในระหว่างการรับอาหารจากคนขนส่งอาหาร
- หลีกเลี่ยงการสั่งอาหาร Delivery กลุ่มเสี่ยง เช่น อาหารประเภทเนื้อสัตว์หรือเครื่องในสัตว์ที่ปรุงไม่สุก อาหารที่เน่าเสียง่าย อาหารที่ปรุงด้วยนม กะทิ เป็นต้น ควรนำไปอุ่นร้อนก่อนรับประทาน
- ตรวจสอบคุณภาพอาหาร เช่น ความสะอาด สภาพอาหารและไม่มีกลิ่นเน่าเสีย ความเหมาะสมของภาชนะบรรจุ การปกปิดอาหาร
เพื่อนคงรู้วิธีการสั่งอาหาร Delivery อย่างไรให้ปลอดภัยกันไปแล้วนะครับ ถึงแม้การสั่งอาหาร deliveryถือว่ามีความเสี่ยงสูงประมาณหนึ่งเลย แต่เราเองก็สามารถลดความเสี่ยงเรื่องการติดต่อโรคได้ โดยการรักษาความสะอาดให้ดีที่สุดในทุกขั้นตอน ตั้งแต่คนทำอาหาร คนส่ง ไปจนถึงผู้รับประทานอาหารครับ เพียงเท่านี้ ก็จะสามารถลดความเสี่ยงด้านสุขอนามัยไปได้เยอะเลยครับ แถมได้เครดิตที่ดีทั้งร้านอาหาร และคนส่งอีกด้วยครับ แล้วครั้งหน้า Condonewb จะเอาเรื่องอะไรมาเล่าให้ฟังอีกอย่าลืมติดตามนะครับ
Written by NewBENN
ขอบคุณข้อมูลจาก พญ.พรรณพิมล วิปุลากร
อธิบดีกรมอนามัย