หลายคนคงได้พบเจอกับปัญหาบ้านที่อยู่อาศัยพื้นทรุดกันแทบทั้งนั้น ถึงแม้ว่าบ้านที่เรารักนั้นได้รับการออกแบบใส่ใจ และดูแลรักษามาอย่างดีแล้วก็ตาม ปัญหาที่ว่านี้เกิดจากปัจจัยหลาย ๆ อย่าง ทั้งพื้นดินโดยรอบบริเวณบ้านทรุดตัว หรือดินยุบจนเกิดเป็นโพรงด้านใต้ เรียกได้ว่าเป็นปัญหาหลักที่บรรดาผู้อยู่อาศัยหลีกหนีกันไม่พ้น ไม่ว่าจะเป็นบ้าน อาคารที่สร้างเอง หรือโครงการบ้านจัดสรร และเมื่อเกิดพื้นบ้านทรุดขึ้นมา หากเราไม่รีบแก้ไขอย่างทันท่วงทีก็จะเป็นปัญหาเรื้อรัง ที่สร้างความกังวลใจได้อย่างมากมาย ทั้งเป็นปัญหากับตัวบ้านเอง แถมยังจะกลายเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์เลื้อยคลาน หรือแมลง มด ปลวก เข้าไปทำรังอยู่ใต้บ้าน ทางที่ดีให้เราคอยสังเกตรอบ ๆ ตัวบ้านของเราอย่างสม่ำเสมอ หากเกิดพื้นทรุด กระเบื้องแตก ก็อย่าได้นิ่งนอนใจ อย่าปล่อยทิ้งไว้เป็นอันขาด รีบหาทางจัดการให้เร็วที่สุด ส่วนจะทำอย่างไรด้บ้างนั้น วันนี้เรามีคำแนะนำดี ๆ มาฝากกันกับทำอย่างไรเมื่อ พื้นทรุด กระเบื้องแตก เกิดโพรงใต้บ้าน สัญญาณอันตรายที่ต้องรีบแก้ไขให้ทันท่วงที
. . . . . . . . . .
ปัญหาพื้นทรุด บ้านทรุด เกิดจากสาเหตุอะไรได้บ้าง?

สาเหตุใหญ่ ๆ นั้นเกิดจากไม่มีโครงสร้างคานใต้ดิน หรือเสาเข็มรองรับ หรือมีในปริมาณหรือคำนวณที่ไม่มากพอ เป็นการสร้างบ้านหรือที่พักอาศัยแบบวางบนดิน (Slab on Ground) ซึ่งจะต่างจากการสร้างบ้าน หรือที่อยู่อาศัยแบบโครงสร้างวางบนคาน (Slab on Beam) โดยจะมีคานหรือเสาเข็มยึดลึกลงไปถึงชั้นดิน ทำให้แน่นและสามารถรองรับน้ำหนักของตัวบ้านและป้องกันการทรุดตัวในระยะยาว โดยเฉพาะดินในพื้นที่บริเวณภาคกลางของประเทศไทย จะมีดินส่วนใหญ่เป็นดินเหนียวอ่อน ซึ่งมีอัตราการยุบตัวต่อเนื่อง เมื่อมีฝนตกบ่อย ๆ จะทำให้ดินเกิดการทรุดตัว และไหลลงสู่ที่ต่ำได้ง่าย ทำให้เกิดช่องว่างระหว่างคานบ้านกับพื้นดินจนเกิดเป็นพื้นทรุด หรือเป็นโพรงใต้บ้าน และอาจจะสร้างปัญหาต่อเนื่อง ทำให้พื้นที่โดยรอบบริเวณบ้านเกิดการปริร้าว หรือโครงสร้างบ้านเป็นรอยแยกแตกนั่นเอง
6 วิธีสังเกตอาการพื้นทรุดในเบื้องต้น
- พื้นบ้านแยกออกจากกัน พื้นบ้านแยกออกจากพื้นโรงจอดรถ หรือแยกออกจากส่วนต่อเติมบ้าน
- ผนังบ้านเริ่มมีรอยร้าวเป็นทางยาว โดยสามารถพบเห็นได้รอบบริเวณบ้าน อาจมีตั้งแต่รอยร้าวแตกลายงาของผิวปูน และรอยร้าวขนาดใหญ่บริเวณผนังหรือ
- พื้นบ้านทรุดตัวต่ำ หรือทางเดินเริ่มมีรอยแยก กระเบื้องปูพื้นเริ่มมีรอยแตก
- ผนังหรือพื้นบ้านเอียง จนสังเกตได้ด้วยตาเปล่า
- โครงสร้างคานบ้าน กับผนังแยกห่างออกจากกันจนเห็นชัด
- เกิดดินทรุดตัวรอบ ๆ ตัวบ้าน หรือเกิดเป็นโพรงดินลึกใกล้ ๆ กับตัวบ้าน
พื้นทรุด และดินทรุด แตกต่างกันอย่างไร
แม้จะเป็นปัญหาที่ส่งผลต่อเนื่องถึงกัน แต่ก็เกิดขึ้นจากสาเหตุที่แตกต่างกัน เราควรสังเกตชัดเจนก่อนว่า พื้นทรุดหรือดินทรุด เพื่อจะได้แก้ไขได้ตรงจุด บางครั้งดินทรุดก็ไม่ได้ส่งผลให้พื้นทรุดหรือบ้านทรุด เพราะจริง ๆ แล้วปัญหาดินทรุดนั้นมักจะเกิดหลังจากการถมดิน หรือการก่อสร้างบ้าน หรืออาคารเสร็จเรียบร้อยประมาณ 1-2 ปี จากการถมดินปรับพื้นใหม่ เพื่อปรับพื้นที่หรือการเร่งการก่อสร้างที่รวดเร็วเกินไป โดยไม่รอให้ดินเซ็ตตัวให้แน่นก่อน เมื่อฝนตกจึงทำให้ดินทรุดตัว อีกทั้งยังส่งผลให้ดินไหลไปยังบริเวณใต้บ้าน การสังเกตว่าดินทรุดตัวหรือไม่
- เกิดดินทรุดรอบ ๆ บริเวณขอบตัวบ้าน แล้วไหลเข้าไปใต้บ้านทำให้เกิดเป็นโพรง
- พื้นรอบบ้านหรือพื้นบริเวณที่จอดรถที่เชื่อมต่อกันนั้นเกิดการทรุดตัวแยกจากตัวบ้าน
- ดินบริเวณใต้บ้านเกิดทรุดตัวจนมองเห็นเสาหรือคานโผล่ออกมา
- ระบบคานเชื่อมต่อต่าง ๆ ใต้บ้านขาด หรือแยกออกจากกัน
สาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาพื้นทรุดหรือดินทรุด
ดินทรุดส่วนใหญ่แล้วเกิดจากปัญหาทางธรรมชาติที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ต้องค่อย ๆ แก้ปัญหาไปตามสภาพ หากบ้านหรือที่พักอาศัยสร้างและวางรากฐานที่ถูกต้องตามมาตรฐาน ก็จะไม่เกิดผลกระทบใด ๆ กับตัวบ้าน แต่ในทางกลับกันหากรากฐานของบ้านไม่ได้มาตรฐาน ไม่สามารถรองรับกับการทรุดตัวของดิน ปัญหาดินทรุดย่อมก่อให้เกิดปัญหาพื้นทรุดตามมาได้เช่นกัน
1. เสาเข็มสั้นเกินไป ทำให้รับแรงแบกได้น้อย
หากชั้นดินอ่อนตัว หรือชั้นดินที่อยู่บริเวณรอบเสาเข็มยุบตัวลงหรือเคลื่อน จะทำให้น้ำหนักส่งจากเสาลงสู่ดินเร็วเกินไป และส่งผลให้เสาเข็มที่สั้นเกินไปทรุดตัวลงได้ง่ายด้วย เสาเข็มที่นิยมใช้จะมีความยาวตั้งแต่ 8-20 เมตร ขึ้นอยู่กับลักษณะดินในพื้นที่นั้น ๆ
2. เสาเข็มชำรุด
อีกหนึ่งสาเหตุสำคัญที่บ้านเกิดพื้นทรุดอาจจะเกิดจากเสาเข็มแตกหัก หรือแยกขาดออกจากกัน โดยอาจจะมาจากขั้นตอนการติดตั้งเสาเข็มที่ไม่ได้ตรวจตราให้ดี หรือตอนตอกเสาเข็มที่แรงเกินไปทำให้เกิดปัญหาแตกร้าว เมื่อปักเสาเข็มชำรุดลงดิน ทำให้ไม่สามารถส่งผ่านน้ำหนักลงไปสู่ชั้นดินที่แน่นได้
3. เสาเข็มอยู่บนชั้นดินที่ต่างชนิดกัน
การที่ปลายเสาเข็มบางส่วนของบ้านพักอาศัยอยู่ในชั้นดินที่ต่างกัน เช่น ปลายเสาด้านหนึ่งอยู่ในชั้นดินเหนียว หรือชั้นทราย แต่ปลายเสาเข็มอีกด้านหนึ่งอยู่ในชั้นดินอ่อน ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้รากฐานโยกคลอน เป็นอีกสาเหตุหนึ่งเช่นกัน
4. เสาเข็มไม่ตรงกับเสาบ้าน
บ้านพักอาศัยที่ใช้การปักเสาเข็มเดี่ยวมักเกิดปัญหาพื้นทรุดตัว เนื่องจากเสาบ้านไม่ตรงกับเสาเข็ม ทำให้ฐานด้านล่างเกิดการพลิกตัว กรณีนี้จะไม่พบเห็นรอยร้าวโครงสร้างส่วนบน
5. ดินเกิดการเคลื่อนที่
อาจจะเกิดจากผลกระทบ สภาพแวดล้อมจากบริเวณรอบนอก เช่น มีการขุดดินจากที่ดินข้างเคียง หรืออยู่ใกล้กับจุดที่กำลังมีการก่อสร้าง มีการขุดดินขาย มีการตอกเสาเข็มด้วยปั้นจั่น แรงสั่นสะเทือนก็มีส่วนทำให้ดินในพื้นที่ใต้โครงสร้างบ้านของเรา เคลื่อนตัวจนดันเสาเข็มให้เคลื่อนออกจากตำแหน่งเดิม ทำให้พื้นทรุดลงได้เช่นกัน
6. เสาเข็มไม่สามารถรับน้ำหนัก
หากเราถมที่ใหม่ ๆ แล้วรีบทำการก่อสร้าง โดยไม่รอให้ดินเซ็ตตัวให้คงที่ ทิ้งระยะไว้ไม่นานพอ โดยเฉพาะหากช่วงที่มีฝนตกหนักอาจทำให้ดินที่ถมไว้เกิดทรุดตัวและไหลลงสู่ที่ต่ำ ทำให้ดินอยู่ในสภาพไม่ยึดแน่นเคลื่อนไหล จนทำให้เสาเข็มไม่สามารถแบกรับน้ำหนักได้ก่อนสร้างบ้าน หรือที่พักอาศัยจึงควรถมดินทิ้งไว้ก่อนอย่างน้อย 2-3 ปี
แนะนำ 6 เคล็ดลับปิดโพรงดินใต้บ้าน ป้องกันพื้นทรุดในเบื้องต้น

1. ทำขอบปูน แนวคันหิน หรือใช้กระถางต้นไม้ปิดบริเวณโพรงดิน
เป็นการแก้ปัญหาเบื้องต้นที่รวดเร็ว สามารถทำได้ด้วยตนเอง ก่อนที่ดินรอบบ้านจะทรุดลงเรื่อย ๆ โดยการนำกระถางต้นไม้ หินแต่งสวนแผ่นปูน หรืออุปกรณ์แต่งสวนอื่น ๆ มาวางเรียงต่อ ๆ กัน ในแนวโพรงดิน จะช่วยป้องกันไม่ให้ดินหรือสิ่งแปลกปลอมต่าง ๆ ไหลเข้าไปในโพรงดิน อันจะเป็นปัญหาให้เกิดพื้นทรุดได้
2. ใช้แผ่นพื้นปูนหรือแผ่นคอนกรีตเสียบลงไป
เพื่อเป็นการปิดโพรงดินเช่นเดียวกัน เมื่อดินทรุดตัวทำให้พื้นโดยรอบเกิดการแตกร้าว ให้เราทุบหรือขุดดินโดยรอบให้ลึกกว่าบริเวณที่ดินทรุด แล้วนำแผ่นปูนหรือพื้นคอนกรีตเสียบลงไปในดินให้แน่น โดยให้ขอบด้านบนของแผ่นปูนอยู่ระดับเดียวกับแนวคาน หลังจากนั้นค่อย ๆ ปรับดินรอบ ๆ ตัวบ้านตามความเหมาะสม
3. ปรับระดับแนวพื้นดิน
เป็นวิธีแก้ปัญหาในระยะยาว หลังจากดินทรุดตัวคงที่ และน่าจะไม่ทรุดตัวลงอีก โดยการถมดินให้มีความสูงกว่าโพรงดินใต้บ้าน และให้ปรับหน้าดินด้วยการถมทรายหรือดินให้แน่น หรืออาจใช้ยางมะตอยสำเร็จรูปแต่ไม่ควรเติมดินหรือทรายลงข้างใต้โพรงดิน เพราะจะไปทำให้เสาเข็มต้องรับน้ำหนักเพิ่ม อาจทำให้เกิดปัญหาพื้นทรุดได้
4. การถมทราย
ขนทรายมากองรอบบริเวณบ้านด้านหน้าโพรงดิน แล้วฉีดน้ำดันให้ทรายไหลเข้าใต้บ้านจนปิดปากโพรงสนิท ทรายจะเข้าไปช่วยเป็นแนวกันดินรอบบ้านไม่ให้ไหลเข้าไปใต้บ้านได้เป็นอย่างดี หลังจากนั้นเราสามารถถมดินโดยรอบ และตกแต่งพื้นที่ได้ตามต้องการ (น้ำหนักทรายประมาณ 1,500 กิโลกรัมต่อลูกบาศก์เมตร)
5. เทคอนกรีตกั้นแนว
คือการทำคันกั้นดินด้วยการเทแนวคอนกรีต หรือก่ออิฐมวลเบา ปิดบริเวณโพรงตลอดความยาวโพรงที่เกิดขึ้น คันคอนกรีตจะทำหน้าที่เป็นแนวกำแพง กันไม่ให้ดินรอบบ้านไหลเข้าไปใต้ตัวบ้าน โดยใช้แผ่นสมาร์ตบอร์ดรองด้านที่ติดกับคานบ้านยาวเป็นแนว ช่วยปิดเสริมความแข็งแรงชั้นที่ 2 วิธีนี้จะช่วยแก้ไขปัญหาดินรอบบ้านทรุดตัวได้เป็นอย่างดี
6. ตอกเสาเข็ม
การต่อเติมพื้นที่ใหม่ ๆ เช่น ที่จอดรถ ลานซักล้าง ครัว หรือบริเวณพื้นที่นั่งเล่น ควรตอกเสาเข็มให้ถึงชั้นดินแข็งด้วย อาจสร้างปัญหาที่นำไปสู่พื้นทรุดได้เช่นกัน เพราะเมื่อพื้นดินบริเวณดังกล่าวเกิดทรุดตัวลง จะไปดึงโครงสร้างบ้านให้เกิดการเคลื่อนหรือเกิดแตกร้าว จากความไม่สม่ำเสมอของระดับพื้นที่ เพื่อป้องกันปัญหาดินทรุดตัวเกิดเป็นโพรงใต้บ้าน ควรก่อสร้างหรือต่อเติมส่วนต่าง ๆ แยกออกจากตัวบ้านไปเลย
วิธีแก้ปัญหาและการซ่อมแซมเมื่อพื้นทรุด

ปัญหาพื้นทรุดมักพบกันได้โดยทั่วไป โดยเฉพาะบ้านที่พักอาศัยหรืออาคารที่มีการก่อสร้างมานานหลายปี ส่วนใหญ่มักเกิดจากพื้นดินทรุด ทำให้เกิดปัญหาการรับน้ำหนักตัวบ้านได้ไม่ดีเหมือนในตอนแรก หากเป็นปัญหาดินทรุดก็อาจต้องรีบแก้ไข ก่อนที่จะเกิดปัญหาใหญ่กว่าตามมา ซึ่งอาจจะเกิดความเสียหายได้มากมายจนคาดไม่ถึง เรามาดูกันว่าพื้นทรุดแก้ไขอย่างไรได้บ้าง
1. ซ่อมยกพื้นแบบเฉพาะจุด Full-Depth Repair
เป็นการซ่อมพื้นแบบเลือกซ่อมเฉพาะ เป็นจุด ๆ ไป การซ่อมพื้นทรุดแบบนี้เหมาะกับงานที่พื้นผิวเสื่อมสภาพหนัก ๆ แต่การซ่อมแซมแบบนี้ต้องรื้อพื้นผิวออกใหม่ จะใช้เวลาทำงานนานกว่าการซ่อมแบบอื่น ๆ แต่ก็ขึ้นอยู่กับขนาดพื้นที่ โดยหลังการรื้อซ่อมยังต้องรอเวลาให้ปูนซีเมนต์เซ็ตตัว 2-3 วัน ซึ่งในขณะซ่อมนั้นอาจจะส่งผลต่อพื้นที่ข้างเคียงได้ เป็นที่นิยมเฉพาะงานในระดับใหญ่ ๆ เช่น การปรับรื้อทั้งโครงสร้าง
2. เสริมเสาเข็มเหล็ก
เมื่อพื้นทรุดตัวส่งผลให้โครงสร้างบ้านไม่สามารถยึดเกาะเข้ากับดินได้อย่างมีประสิทธิภาพ น้ำหนักทั้งหมดของโครงสร้างจะถูกถ่ายเทไปยังเสาเข็มเพียงอย่างเดียว หากเสาเข็มต้องแบกรับน้ำหนักมาก ๆ อย่างต่อเนื่อง ก็อาจจะทรุดตัวลง การเสริมเสาเข็มเหล็ก เป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะช่วยให้โครงสร้างบ้านยึดเกาะกับดินได้อย่างมั่นคงแข็งแรง โดยการยิงเสาเข็มเหล็กลงไปเสริม เพื่อยึดติดกับผืนดินช่วยรับน้ำหนัก มีด้วยกัน 2 เเบบ คือ แบบเสาเข็มเกลียวหลายชั้น Screw Pile มีจุดเด่นช่วยยึดเกาะกับชั้นดินได้เป็นอย่างดี เพราะมีเกลียวมาก มีความสามารถในการยึดเกาะชั้นดิน และแบบเสาเข็มเกลียวน้อย Helix Pile รอบตัวเสาเข็มจะมีใบเกลียวเพียง 1-2 ใบ แต่ใบเกลียวจะมีขนาดค่อนข้างใหญ่ ทำให้เสาเข็มแบบนี้สามารถยึดติดกับชั้นดินได้เป็นอย่างดีเช่นกัน เสาเข็มเหล็กทั้ง 2 แบบ ผ่านกระบวนการกัลวาไนซ์ (Galvanize) ชุบสังกะสีเคลือบเหล็ก ทำให้ทนต่อการเกิดสนิมได้เป็นอย่างดี
3. เสาเข็มไมโครไพล์ MicroPile
เป็นการยึดเสาเข็มแบบกดด้วยไฮดรอลิก ออกแบบมาเพื่อเสริมรากฐานในการรับน้ำหนัก ช่วยให้โครงสร้างที่มีการทรุดตัว หรือช่วยแก้ปัญหาพื้นบ้านทรุดโดยเฉพาะ สามารถทำงานในบริเวณพื้นที่แคบ ๆ ได้ โดยไม่ต้องรื้อโครงสร้างเดิมออก สามารถกดเสาเข็มไมโครไพล์ลงลึกถึงชั้นดินแข็ง มีแรงสั่นสะเทือนน้อยไม่ส่งผลกระทบกับโครงสร้างเดิม ขณะทำงานมีเสียงดังรบกวนน้อยมาก สามารถรับน้ำหนักได้มากกว่า 15 ตันต่อต้น มีหลายขนาดหน้าตัด รองรับการใช้งานได้ตามความต้องการ
4. ฉีดโฟมแก้พื้นทรุด Polyurethane Lifting
เป็นการแก้ปัญหายกปรับระดับพื้นทรุด Up-Lifting ที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ทำได้ด้วยการฉีดสารโพลียูรีเทน (Polyurethane) หรือเรียกอีกอย่างว่า PU โฟมที่สามารถรองรับน้ำหนักได้มากถึง 20 ตันต่อตารางเมตร และยังมีความสามารถในการยกน้ำหนักได้มากถึง 50 ตันต่อตารางเมตร PU โฟม แข็งตัวเร็วภายใน 7-10 วินาที มีคุณสมบัติพิเศษคือไม่ลามไฟ เนื่องจากมีส่วนผสมสารกันไฟ สามารถป้องกันการรั่วซึมของน้ำได้โดยเป็นอย่างดี PU โฟมนั้นจะแทรกตัวไปตามช่องว่างของชั้นดิน แล้วไปรวมตัวกันกับรวมตัวกับดิน หิน ทราย ทำให้สารโพลียูรีเทนขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ก็จะยกพื้นขึ้นมา ทำให้พื้นบ้าน พื้นอาคารที่ทรุดตัว หรือพื้นต่างระดับ สามารถยกได้เท่ากับของเดิม หรือเท่าตามที่ต้องการ วิธีการปรับพื้นบ้านทรุดวิธีนี้ ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก
ขั้นตอนและวิธีการฉีดโฟมแก้พื้นทรุด
- เจาะรูขนาด 16 มิลลิเมตร เว้นระยะห่าง 1.5 เมตรต่อรู ในพื้นที่ที่ต้องการยกปรับระดับ โดยการใช้สว่านโรตารี่
- ฉีดสาร PU โฟม เพื่อทำการปิดโพรงใต้พื้นผิวและบดอัดชั้นดิน ตรวจสอบการขยับตัวของโครงสร้าง ทุก ๆ 0.5 มิลลิเมตร เมื่อพื้นตัวถูกปรับยกขึ้น
- การขยายตัวของ PU โฟม ทำให้สามารถยกน้ำหนักได้มากกว่า 50 ตันต่อตารางเมตร พื้นทรุดจะได้รับการแก้ไขปรับปรุงให้เรียบเสมอกัน
- สามารถเปิดพื้นที่ใช้งานได้ภายในเวลาไม่นาน
ข้อดีของการแก้ปัญหาพื้นทรุด ด้วยการฉีดโฟมแก้พื้นทรุด PU โฟม
- ลดค่าใช้จ่ายในการรื้อถอน ขนย้าย และการติดตั้งเครื่องจักร
- ใช้พื้นที่ทำงานไม่มาก ไม่รบกวนสภาพแวดล้อมการทำงาน
- ใช้เวลาในการซ่อมแซมพื้นที่น้อยกว่าแบบอื่น ๆ แข็งแรง ทนทาน ไม่หดตัว
- ไม่ต้องลงเสาเข็ม หรือทุบพื้นที่ทิ้ง และไม่ต้องสร้างใหม่
- ปรับปรุงความแข็งแรงให้กับชั้นดินใต้พื้นได้ดีกว่า หยุดการพังทลายของชั้นดิน ทำให้ดินบริเวณรอบ ๆ มีเสถียรภาพควบคุม หรือหยุดการไหลของน้ำใต้ดินได้ดี
- มีความคลาดเคลื่อนน้อยมาก เมื่อเทียบกับวิธีการซ่อมแซมแบบเดิม ๆ
ปัญหาพื้นทรุด ดินทรุด หรือพื้นดินเป็นโพรง เป็นปัญหาใหญ่สำหรับคนรักบ้านเป็นอย่างมาก เพราะจะทำให้เกิดความกังวลในการอยู่อาศัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมืองที่มีฝนตกหนักอย่างประเทศไทย เนื่องจากปัญหาสภาพแวดล้อมเป็นเรื่องที่อยู่นอกเหนือความคาดหมาย แต่ทุกปัญหาย่อมมีทางแก้เสมอ ขอเพียงให้เราศึกษารายละเอียด ให้ทราบถึงสาเหตุปัญหาที่แท้จริง เพื่อจะแก้ปัญหาได้อย่างทันท่วงที อย่างน้อยเคล็ดลับและคำแนะนำดี ๆ ในการแก้ปัญหาพื้นทรุดที่เรานำมาฝากกันนั้น ก็คงมีประโยชน์ในการแก้ไขในเบื้องต้นด้วยตัวเองได้ อ่านบทความ พื้นทรุด กระเบื้องแตก เกิดโพรงใต้บ้าน สัญญาณอันตรายที่ต้องรีบแก้ไขให้ทันท่วงที จบก็รีบไปหาทางป้องกันและแก้ไขกันเลย เพื่อให้การอยู่อาศัยในบ้านของเรานั้นมีแต่ความสุขและปลอดภัยสำหรับทุกคน