ในที่สุดก็ถึงเวลาที่ชาวกรุงเทพมหานครรอคอยกันเสียที กับการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. คนที่ 17 หลังจากห่างหายไปนานถึง 9 ปี เต็ม นับตั้งแต่มีการเลือกตั้งหนสุดท้ายในเมืองหลวง เมื่อปี 2556 โดยการรับสมัครได้มีขึ้นระหว่างวันที่ 31 มีนาคม - 4 เมษายน 2565 ที่ศาลาว่าการ กทม. เมื่อครบกำหนดปิดรับสมัคร ปรากฏว่ามีผู้สนใจลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าฯ กทม. จำนวนมากเป็นประวัติการณ์ถึง 31 คน เลยทีเดียว ทั้งที่สมัครในนามพรรคการเมืองและเป็นผู้สมัครอิสระ โดยแต่ละคนก็งัดนโยบายที่โดดเด่นขึ้นมาเพื่อใช้หาเสียงแข่งขันกัน วันนี้เราจะมาทำความรู้จักกับการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. และพาไปส่องนโยบาย ผู้สมัคร ผู้ว่ากรุงเทพ 65 ใครเด่นอะไร ตามมาดู! กันเลย
. . . . . . . . . . . . .

เลือกตั้งผู้ว่า กทม 2565 เมื่อไหร่
เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง กำหนดให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมกับการเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) ขึ้นในวันที่ 22 พฤษภาคม 2565 โดยผู้ว่าฯ กทม. จะมีวาระอยู่ในตำแหน่ง 4 ปี นับตั้งแต่วันเลือกตั้ง แต่จะดำรงตำแหน่งติดต่อกันได้ไม่เกิน 2 วาระ และในกรณีดำรงตำแหน่งไม่ครบ 4 ปี ให้ถือว่าเป็น 1 วาระ และเมื่อดำรงตำแหน่งครบ 2 วาระติดกันแล้ว จะกลับมาดำรงตำแหน่งได้อีกครั้ง เมื่อพ้นระยะเวลา 4 ปี นับแต่วันพ้นตำแหน่งไปแล้ว
ส่วนสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร ก็มีวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปี นับแต่วันเลือกตั้งเช่นเดียวกัน โดยการแบ่งเขตเลือกตั้งครั้งนี้ แบ่งเขตเลือกตั้งกรุงเทพมหานครออกเป็นทั้งหมด 50 เขต มี ส.ก. ได้เขตละ 1 คน ซึ่งนั่นก็เท่ากับว่าหลังสิ้นสุดการเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพ 65 ในวันที่ 22 พฤษภาคม ชาวเมืองหลวงจะมีผู้ว่าฯ กทม. 1 คน และ ส.ก. 50 คน เข้าไปเป็นตัวแทนทำหน้าที่ดูแลและบริหารกรุงเทพ สำหรับการเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพ 65 ครั้งนี้ จะใช้บัตรลงคะแนนทั้งสิ้น 2 ใบ โดยเป็นบัตรลงคะแนนเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. 1 ใบ และลงคะแนนเลือก ส.ก. 1 ใบ สีบัตรที่ใช้ลงคะแนนจะแตกต่างกัน
. . . . . . . . . . . . . .
เช็กจำนวนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง ผู้ว่ากรุงเทพ 65
ในการเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพ 65 ที่จะมีขึ้นในวันที่ 22 พฤษภาคมนั้น จะมีจำนวนผู้มีสิทธิในการเลือกตั้งทั้งหมด 4,481,523 คน และจะมี First Time Voter หรือผู้ที่ใช้สิทธิเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. เป็นครั้งแรก สัดส่วนถึง 16% หรือ 698,660 คน ซึ่งถือว่าเป็นสัดส่วนผู้มีสิทธิลงคะแนนที่มากพอสมควรเลยทีเดียว เราจะมาดูว่าแบ่งออกเป็นกลุ่มใดกันบ้าง
- กลุ่มอายุ 28-40 ปี เป็นกลุ่มที่มีสัดส่วนผู้มีสิทธิเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพ 65 มากที่สุด คิดเป็น 23% หรือจำนวน 1,013,270 คน
- กลุ่มอายุ 41-50 ปี มีสิทธิเลือกตั้งอประมาณ 19% หรือจำนวน 871,272 คน
- กลุ่มอายุ 51-60 ปี มีผู้มีสิทธิเลือกตั้งประมาณ 18% หรือจำนวน 826,760 คน
- กลุ่มอายุ 61-70 ปี มีผู้มีสิทธิเลือกตั้งประมาณ 14% หรือจำนวน 611,232 คน
- กลุ่มอายุ 71-80 ปี มีผู้มีสิทธิเลือกตั้งประมาณ 7% หรือจำนวน 309,315 คน
- กลุ่มอายุตั้งแต่ 80 ปีขึ้นไป เป็นกลุ่มที่มีผู้มีสิทธิเลือกตั้งน้อยที่สุดในการเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพ 65 ประมาณ 3% หรือจำนวน 151,014 คน
. . . . . . . . . . . . . .
สรุปหมายเลขและรายชื่อผู้สมัครผู้ว่ากรุงเทพ 65 ครบทั้ง 31 คน
การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มีขึ้นครั้งแรกในปี 2518 สำหรับการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นในวันที่ 22 พฤษภาคม 2565 นี้ ก็ได้ทำลายสถิติเดิมเมื่อปี 2539 ลงไปได้ เพราะครั้งนี้มีผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพ 65 มากที่สุด เป็นจำนวนถึง 31 คน ส่วนผู้สมัครผู้ว่ากรุงเทพ 65 จะมีใครบ้างนั้น ไปดูรายชื่อเรียงตามลำดับหมายเลขกันได้เลย
- เบอร์ 1 นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร พรรคก้าวไกล
- เบอร์ 2 พ.ท.หญิง ฐิฏา รังสิตพล มานิตกุล ผู้สมัครอิสระ
- เบอร์ 3 นายสกลธี ภัททิยกุล ผู้สมัครอิสระ
- เบอร์ 4 ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ พรรคประชาธิปัตย์
- เบอร์ 5 นายวีรชัย เหล่าเรืองวัฒนะ ผู้สมัครอิสระ
- เบอร์ 6 พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้สมัครอิสระ
- เบอร์ 7 น.ส.รสนา โตสิตระกูล ผู้สมัครอิสระ
- เบอร์ 8 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครอิสระ
- เบอร์ 9 น.ส.วัชรี วรรณศรี ผู้สมัครอิสระ
- เบอร์ 10 นายศุภชัย ตันติคมน์ ผู้สมัครอิสระ
- เบอร์ 11 น.ต.ศิธา ทิวารี พรรคไทยสร้างไทย
- เบอร์ 12 นายประยูร ครองยศ ผู้สมัครอิสระ
- เบอร์ 13 นายพิศาล กิตติเยาวมาลย์ ผู้สมัครอิสระ
- เบอร์ 14 นายธเนตร วงษา ผู้สมัครอิสระ
- เบอร์ 15 พล.อ.ต.ทูตปรีชา เลิศสันทัดวาที ผู้สมัครอิสระ
- เบอร์ 16 น.ส.ศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ ผู้สมัครอิสระ
- เบอร์ 17 นายอุเทน ชาติภิญโญ ผู้สมัครอิสระ
- เบอร์ 18 น.ส.สุมนา พันธุ์ไพโรจน์ ผู้สมัครอิสระ
- เบอร์ 19 นายไกรเดช บุนนาค ผู้สมัครอิสระ
- เบอร์ 20 นางอมรพรรณ อุ่นสุวรรณ ผู้สมัครอิสระ
- เบอร์ 21 นายนิพัทธ์พนธ์ สุวรรณชนะ ผู้สมัครอิสระ
- เบอร์ 22 นายวรัญชัย โชคชนะ ผู้สมัครอิสระ
- เบอร์ 23 นายเฉลิมพล อุตรัตน์ ผู้สมัครอิสระ
- เบอร์ 24 นายโฆสิต สุวินิจจิต ผู้สมัครอิสระ
- เบอร์ 25 นายประพัฒน์ บรรจงศิริเจริญ ผู้สมัครอิสระ
- เบอร์ 26 พล.ต.ท.มณฑล เงินวัฒนะ ผู้สมัครอิสระ
- เบอร์ 27 นายภูมิพัฒน์ อัศวภูภินทร์ ผู้สมัครอิสระ
- เบอร์ 28 นายสราวุธ เบญจกุล ผู้สมัครอิสระ
- เบอร์ 29 นายกฤตชัย พยอมแย้ม พรรคประชากรไทย
- เบอร์ 30 นายพงศา ชูแนม พรรคกรีน
- เบอร์ 31 นายวิทยา จังกอบพัฒนา ผู้สมัครอิสระ
ส่องนโยบายตัวเต็งผู้สมัคร ผู้ว่ากรุงเทพ 65 ใครนำเสนออะไรโดนใจบ้าง?
การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ครั้งนี้ นอกจากจำนวนผู้สมัครแล้ว ทางด้านการแข่งขันถือว่าเข้มข้น และมีเดิมพันทางการเมืองที่สูงมาก ผู้สมัครแต่ละคนก็ได้งัดเอานโยบายที่โดดเด่น และสร้างสรรค์มาเอาใจชาว กทม. เราจะพาไปดูนโยบายเด็ด ๆ จากตัวเต็ง ผู้ว่ากรุงเทพ 65 ว่าเป็นใคร และมีอะไรมานำเสนอบ้าง
วิโรจน์ ลักขณาอดิศร เบอร์ 1
เริ่มด้วย วิโรจน์ ลักขณาอดิศร อายุ 44 ปี ผู้สมัครผู้ว่ากรุงเทพ 65 เบอร์ 1 จากพรรคก้าวไกล ที่ลาออกจาก ส.ส.บัญชีรายชื่อ เพื่อมาสมัครเป็นผู้ว่าฯ กทม. ประกาศเปิดตัวมาพร้อมกับสโลแกนโดน ๆ ที่บอกว่า “พร้อมชนเพื่อคนกรุงเทพ สร้างเมืองที่คนเท่ากัน” นายวิโรจน์เคยทำงานเป็นผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรบุคคลและพัฒนาองค์กร บมจซี.เอ็ดบุ๊คยูเคชั่น และวิศวกรควบคุมคุณภาพ บริษัท อีซูซุมอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด
วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ได้เน้นย้ำว่าหมดเวลาที่การบริหาร กทม. จะซุกปัญหาไว้ใต้พรมอีกต่อไปแล้ว ต้องแก้ที่ปัญหาระบบราชการ โดยจะเป็นผู้ว่าที่พร้อมชนทั้งเรื่องส่วย บ่อนการพนัน จะทำให้การรีดไถหมดไป สร้างให้ กทม.เป็นเมืองแห่งความเท่าเทียม เปิดโอกาสให้กับคนจนเมือง พร้อมชูนโยบายหลัก 12 ด้าน เช่น วัคซีนฟรีจากภาษีประชาชน เพิ่มเบี้ยสวัสดิการผู้สูงอายุ เด็กแรกเกิดถึง 6 ปี อุดหนุนตั๋วค่าโดยสาร ปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพฯ อาชญากรรม อุบัติเหตุ ปกป้องผลประโยชน์ประชาชนไม่ให้นายทุนเอาเปรียบได้อีกต่อไป
นโยบายเด่น
- การบริหารโปร่งใส ไร้คอรัปชั่น
- ปรับปรุงทางเท้า ปรับพื้นที่รกร้างเป็นสวนสาธารณะ ลอกท่อทั่วเมือง ลอกคลองทั่วกรุง
- ขึ้นค่าเก็บขยะห้างใหญ่เอาไปปรับปรุงการเก็บขยะครัวเรือน
- ปรับค่าเดินทางเพื่อลดค่าครองชีพ คัดค้านการต่อสัมปทานรถไฟฟ้า
- สร้างที่อยู่อาศัยที่ดีมีราคาถูก 10,000 ยูนิต
- จัดบริการฉีดวัคซีนฟรี
สกลธี ภัททิยกุล เบอร์ 3
อดีตรองผู้ว่าฯ กทม. ที่เปิดตัวลงรับสมัครเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพ 65 เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2565 ที่ผ่านมา เคยเป็นกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ รองผู้ว่าฯ กทม. รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ และ ส.ส.กรุงเทพฯ เขต 4 บางซื่อ หลักสี่ จตุจักร พญาไท สกลธี ภัททิยกุล จบการศึกษานิติศาสตรบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นิติศาสตรมหาบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยอินเดียนา นิติศาสตรมหาบัณฑิต สาขากฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา มหาวิทยาลัยจอร์จ วอชิงตัน สหรัฐอเมริกา เคยทำงานเป็นเลขานุการปลัดกระทรวงยุติธรรม ทำงานที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ
สกลธี ภัททิยกุล ลงสมัครในนามอิสระ มาพร้อมสโลแกน “กรุงเทพฯ ดีกว่านี้ได้” มั่นใจว่าจะทำหน้าที่เป็นพ่อเมืองที่ดี เปิดแคมเปญสำคัญ ๆ เช่น กรุงเทพดีกว่านี้ได้ กทม.ช่วยบอกธี กทmore โดยมีการวางนโยบายหลักในการทำงาน 6 ด้าน ได้แก่ ระบบขนส่งสาธารณะ สุขภาพความเป็นอยู่ ดูแลสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ สังคม การท่องเที่ยว และการบริหารจัดการภาพรวมอย่างบูรณาการ ด้านสาธารณสุข ด้านการขนส่ง และด้านการศึกษา
นโยบายเด่น
- พัฒนาระบบขนส่งสาธารณะให้มีประสิทธิภาพ
- พัฒนาสาธารณสุขให้มีศักยภาพ
- พัฒนาด้านการศึกษา ยกระดับคุณภาพให้มีความเท่าเทียม
- พัฒนาสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย และผังเมือง
- พัฒนาการบริหารจัดการให้มีความโปร่งใส
- พัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และการท่องเที่ยว
ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ เบอร์ 4
มาต่อกันที่ตัวแทนจากพรรคประชาธิปัตย์ สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อายุ 49 ปี อดีตอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ที่ชูสโลแกน “เปลี่ยนกรุงเทพ เราทำได้” เคยเป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ศ.ดร.สุชัชวีร์ จบปริญญาเอก สาขาวิศวกรรมโยธาและสิ่งแวดล้อม สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตท์ สหรัฐอเมริกา ปริญญาโท สาขาวิศวกรรมธรณีเทคนิคและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน
นโยบายเด่นของ ศ.ดร.สุชัชวีร์ ผู้สมัครผู้ว่ากรุงเทพ 65 จากพรรคประชาธิปัตย์ คือ สร้างให้กรุงเทพมหานครเป็นเมืองสวัสดิการ คนมีความเป็นอยู่เท่าเทียมกัน และมุ่งเน้นนำโครงสร้างเมกะโปรเจ็กต์มาแก้ปัญหา ดูแลประชาชนให้มีคุณภาพที่ดีขึ้น ด้วยการจัดการด้านสาธารณูปโภค การขนส่งสาธารณะ ถนน ทางเท้า รวมทั้งมีนโยบายด้านการศึกษา ให้มีการเรียนฟรีตั้งแต่เด็ก การดูแลด้านสุขภาพ การรักษาพยาบาลตั้งแต่แรกเกิดไปจนถึงสูงอายุกันเลย แถมยังให้ความสำคัญเรื่องอาหารราคาถูกที่มีคุณภาพ ส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
นโยบายเด่น
- แก้ปัญหาพื้นฐาน เช่น ฝนตก รถติด น้ำท่วม ฯลฯ
- ยกระดับการศึกษา โรงเรียน กทม. ให้ได้มาตรฐาน
- ปรับปรุงการสาธารณสุขให้มีศักยภาพ
- แก้ปัญหาด้านคุณภาพอากาศ มลภาวะและสิ่งแวดล้อม
- แก้ปัญหากรุงเทพฯ จมบาดาลจากสภาวะโลกร้อน
พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง เบอร์ 6
พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง อายุ 70 ปี เป็นผู้ว่ากทม คนปัจจุบัน 2565 ที่ต้องการจะเข้ามาสานงานต่อจากที่ทำไว้อีกครั้ง หลังจากนั่งในตำแหน่งนี้มาแล้ว 5 ปี โดยครั้งนี้ลงสมัครผู้ว่ากรุงเทพ 65 ในนามอิสระ พร้อมด้วยทีมงานกลุ่มรักษ์กรุงเทพ มาพร้อมสโลแกน “กรุงเทพฯ ต้องไปต่อ” พร้อมชูนโยบาย ทำได้จริง เพราะทำให้เห็นมาแล้ว และไม่ขายฝันคนกรุงเทพฯ พล.ต.อ.อัศวิน จบโรงเรียนนายร้อยตำรวจ รุ่นที่ 30 ทำงานในตำแหน่งสูงสุด เป็นรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จนในปี 2559 ได้รับการแต่งตั้งจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้เป็นผู้ว่าฯ กทม. เคยเป็นสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ และเป็นคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ด้านกระบวนการยุติธรรม
นโยบายหลัก ๆ ในการแข่งขันครั้งนี้มีด้วยกัน 8 ด้าน คือ เมืองป้องกันน้ำท่วม เมืองเดินทางสะดวก เมืองแห่งสุขภาพ เมืองใส่ใจสิ่งแวดล้อม เมืองปลอดภัย เมืองแห่งการเรียนรู้ เมืองดิจิทัล และเมืองดูแลคนทุกกลุ่มทุกวัย พร้อมจะสานนโยบายเดิมที่ทำไว้ในยุคที่เป็นผู้ว่าฯ กทม. ให้สำเร็จลุล่วง เช่น การสร้างอุโมงค์ระบายน้ำ การเดินหน้าสร้างโรงพยาบาล กทม. การติดตั้งกล้อง CCTV จำนวน 20,217 ตัว ทั่ว กทม. สร้าง Water Bank รวมถึงเพิ่มพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่ให้กรุงเทพฯ ด้วยการสร้างสวนสาธารณะเพิ่ม
นโยบายเด่น
- ผลักดันโครงการแก้ปัญหาน้ำท่วม
- สร้างความสะดวกในการเดินทางสาธารณะ ด้วยล้อ-ราง-เรือ
- ส่งเสริมสุขภาพดีให้กับคนเมืองด้วยระบบการรักษาที่มีคุณภาพ
- สร้างสิ่งแวดล้อมและเมืองที่ดี เพิ่มพื้นที่สีเขียว ลดภาวะโลกร้อน
- สร้างเมืองแห่งการเรียนรู้
- เติมเต็มความปลอดภัยในเมือง
รสนา โตสิตระกูล เบอร์ 7
รสนา โตสิตระกูล อายุ 68 ปี อดีตเคยเป็นผู้ที่ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ว.กทม. ด้วยคะแนนสูงที่สุดในประเทศไทย เคยเป็นสมาชิกวุฒิสภากรุงเทพฯ ฝากผลงานทั้งทางด้านการเมือง สังคมและสิ่งแวดล้อมมาแล้วมากมาย เช่น คดีทุจริตนักการเมือง การร่วมต่อสู้เรียกร้องจนนำไปสู่การยกเลิกสิทธิบัตรกัญชาต่างชาติ เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิสภาการหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ประธานสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค กรรมการในคณะกรรมาธิการปฏิรูปกฎหมาย และสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
รสนา โตสิตระกูล ประกาศตัวลงชิงตำแหน่งผู้ว่ากรุงเทพ 65 ในนามผู้สมัครอิสระ พร้อมชูสโลแกน “หากหยุดโกง กรุงเทพฯ ก็จะมีการเปลี่ยนแปลง” และ “กทม.มีทางออก บอกรสนา” พร้อมในการทำหน้าที่เป็นหัวหน้าแม่บ้าน กทม. มีนโยบายหลัก ๆ ในการดูแลความเป็นอยู่ แก้ปัญหาคนว่างงาน แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม โดยไม่ลืมดูแลสิ่งแวดล้อม ด้วยการนำพลังงานทดแทนมาปรับใช้ เน้นการสร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ให้ออกมาช่วยกันขับเคลื่อนนโยบายให้ประสบความสำเร็จ
นโยบายเด่น
- บำนาญประชาชน 3,000 บาท
- ไม่ต่อสัมปทานบีทีเอส ลดค่าตั๋วเหลือ 20 บาทตลอดสาย
- ขุดลอกคูคลองทั่วกรุงเทพฯ 1,600 สาย เพิ่มการจ้างงาน สร้างการท่องเที่ยว
- ตั้งกองทุนติดโซล่าเซลล์ ช่วยลดค่าใช้จ่ายของประชาชนเดือนละ 500 บาท
- ติดตั้งกล้อง CCTV กว่า 500,000 ตัว เพื่อความปลอดภัย
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เบอร์ 8
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อายุ 55 ปี ฉายารัฐมนตรีที่แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม สมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และยังเคยเป็นแคนดิเดตบัญชีนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย มาครั้งนี้ประกาศตัวชิงตำแหน่งผู้ว่ากรุงเทพ 65 ในนามผู้สมัครอิสระ เคยเป็นอาจารย์จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยังเป็นเจ้าของโปรเจ็กต์ขนส่งสาธารณะครบวงจร งบประมาณ 2 ล้านล้านบาท มาพร้อมสโลแกน “ทำงาน ทำงาน ทำงาน” และ “สร้างกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน”
ชัชชาติ ลงสมัครผู้ว่ากรุงเทพ 65 พร้อม 200 นโยบาย ที่เดินทางสำรวจปัญหาด้วยตัวเอง จนพัฒนามาเป็นแนวคิด “กรุงเทพฯ 9 ดี” ครอบคลุมทั้งความต้องการและความจำเป็นของคนกรุงเทพ ประกอบไปด้วย เดินทางดี ปลอดภัยดี สุขภาพดี สร้างสรรค์ดี โครงสร้างดี บริหารจัดการดี สิ่งแวดล้อมดี เรียนดี และเศรษฐกิจดี มุ่งหวังให้ทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมาบริหารจัดระบบงานสมัยใหม่ ให้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ เน้นในเรื่องสิ่งแวดล้อม ฝุ่นควัน ขยะ และพลิกฟื้นและสร้างโอกาสให้กับคน เพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจปากท้อง การกินดีอยู่ดี แก้ปัญหาใกล้ตัว โดยเปรียบเหมือนการแก้ปัญหา “เส้นเลือดฝอย” ที่กระจายอยู่ตามส่วนต่าง ๆ และมองว่าหากแก้ปัญหาตรงนี้ได้จะทำให้ กทม. เข้มแข็งและยั่งยืน
นโยบายเด่น
- สร้างแผนที่จุดเสี่ยงด้านอาชญากรรม จราจร และสาธารณภัย พัฒนาที่พัก ห้องน้ำ ที่คนไร้บ้านเข้าถึงได้
- ใช้ระบบจัดการจราจรอัจฉริยะ แก้ปัญหาจราจร พัฒนารถสาธารณะทั้งระบบ
- เพิ่มทรัพยากรสาธารณสุข เพิ่มโครงการโรงพยาบาล 10,000 เตียง เพิ่มพื้นที่ออกกำลังกาย
- สร้างพิพิธภัณฑ์เมือง พื้นที่สาธารณะ เปิดพื้นที่ กทม. จัดกิจกรรม ห้องสมุดดิจิทัล
- เพิ่มพื้นที่สีเขียว สร้างกำแพงกรองฝุ่น แยกขยะตั้งแต่ต้นทาง
- ชูอัตลักษณ์ทุกย่านทั่วกรุงเทพ กระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก ยกระดับผู้ค้าแผงลอยให้มีความยั่งยืน
น.ต.ศิธา ทิวารี เบอร์ 11
ศิธา ทิวารี อายุ 57 ปี ประกาศตัวลงชิงตำแหน่งผู้ว่ากรุงเทพ 65 ในนามพรรคไทยสร้างไทย ที่มีคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เป็นประธานพรรค อดีตเคยเป็น ส.ส.กรุงเทพฯ เขตคลองเตย พรรคไทยรักไทย เป็นโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมตรี และปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการอำนวยการและพัฒนา พรรคไทยสร้างไทย น.ต.ศิธา จบการศึกษาจากโรงเรียนเสนาธิการทหารอากาศ รุ่นที่ 43 โรงเรียนเตรียมทหารรุ่นที่ 24 เคยรับราชการเป็นทหารประจำกองทัพอากาศไทย
น.ต.ศิธา ทิวารี ประกาศพร้อมทำหน้าที่เป็นตัวแทนของคน กทม. เปิดตัวมาด้วยสโลแกนที่บอกว่า “ผมจะทำในสิ่งที่ผู้ว่าฯ กทม. ไม่เคยทำ” และแนวคิดสร้างเมืองหลวงด้วยนโยบาย 3P ได้แก่ People การสร้างเมืองแห่งโอกาสให้ชาวกรุงเทพฯ โดยส่งเสริมเรื่องการศึกษาและคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ Profit แก้ปัญหาปากท้อง ด้วยการสร้างงาน สร้างรายได้ เพิ่มโอกาสในการทำมาค้าขาย เพื่อให้ประชาชนมีรายได้มากขึ้น และ Planet สร้างคุณภาพชีวิตคนกรุงเทพอย่างยั่งยืน ด้วยการดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อม ยกระดับให้กรุงเทพมหานครเป็นมหานครของโลกที่คนทั่วโลกยอมรับ
นโยบายเด่น
- สร้างโอกาสให้คนกรุงเทพฯ ทั้งเรื่องการศึกษา และคุณภาพชีวิตที่ดี
- แก้ปัญหาปากท้อง หาบเร่แผงลอย มีเทศกิจอำนวยความสะดวกให้ประชาชน
- สร้างคุณภาพชีวิตคนกรุงเทพฯ อย่างยั่งยืน
- คืนอำนาจให้ประชาชน ได้มีส่วนกับการแต่งตั้งโยกย้าย
คนกรุงเทพฯ ห่างหายจากการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ไปนานถึง 9 ปี จึงทำให้การเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพ 65 ในครั้งนี้ ค่อนข้างคึกคัก และได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก ประกอบกับการที่ผู้ลงสมัครในครั้งนี้ ไม่ว่าจะลงในนามพรรคการเมือง หรือเป็นผู้สมัครอิสระ ต่างก็มีนโยบายดี ๆ มุ่งมาพัฒนากรุงเทพกันแทบทั้งนั้น ใครจะสามารถเข้าป้ายก็ต้องติดตามคอยลุ้นไปพร้อม ๆ กัน การเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพ 65 หลังจากปิดลงคะแนนเลือกตั้งแล้ว จะมีการนับคะแนนที่หน่วยเลือกตั้งนั้น ๆ ก่อนจะส่งผลการนับคะแนนไปให้ กกต. ประจำกรุงเทพมหานคร รวบรวมคะแนนต่อไป
ที่สำคัญอย่ามัวแต่ลุ้นเพียงอย่างเดียว วันอาทิตย์ที่ 22 พฤษภาคม 2565 สามารถลงคะแนนได้ ตั้งแต่เวลา 08.00 – 17.00 น. อย่าลืมออกกันไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งให้มาก ๆ เพื่อให้ได้คนเก่ง ๆ มาพัฒนา และแก้ปัญหาให้กับคนกรุงเทพฯ อย่างยั่งยืน ติดตาทบทความอื่นๆของเราที่นี่